ไต้หวันเผยแผนทุ่มเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวันในช่วง 5 ปีข้างหน้า ให้บรรลุเป้าหมายเป็นดินแดนสองภาษา (Bilingual) ภายในปี 2030 เพื่อแข่งขันกับฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย และฟิลิปปินส์ ที่ใช้ภาษาอังกฤษในหน่วยงานภาครัฐ ภาคกฎหมาย ภาควิชาชีพ และภาคธุรกิจ หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล
ก่อนหน้านี้ไต้หวันประกาศแผนการเพิ่มความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency) ตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ก่อนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดแผนการใช้จ่าย 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน (หรือราว 33,744 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 20 เมษายน) จนถึงปี 2027
โดยในแถลงการณ์เมื่อเดือนมีนาคม คณะรัฐมนตรีของไต้หวันกล่าวว่า “การส่งเสริมนโยบายสองภาษาของรัฐบาล คือการเตรียมคนในท้องถิ่นให้มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับนานาชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรและผู้ประกอบการไต้หวันไปอีกขั้น”
การเป็นดินแดนสองภาษาจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจอย่างไร?
โดยการยกระดับทักษะภาษาอังกฤษในไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ คาดว่าจะช่วยให้บริษัทในไต้หวันแสวงหาโอกาสทางการลงทุนและทางธุรกิจในต่างประเทศได้มากขึ้น พร้อมๆ กับการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวมากขึ้น
Freddie Hoeglund ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสภาหอการค้ายุโรป (European Chamber of Commerce) ในไต้หวัน กล่าวว่า หากข้อบังคับ นโยบาย การประกวดราคา และเว็บไซต์ของรัฐบาลเป็นภาษาอังกฤษ โดยที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย นับเป็นการช่วยขจัดปัญหาในการแปลเอกสารของบริษัทต่างชาติได้
“เรายินดีกับเป้าหมายของรัฐบาลในการเป็นประเทศ สองภาษา เนื่องจากเราเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจและความสามารถในการแข่งขันของไต้หวัน ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน” Hoeglund กล่าวเสริม
ปัจจุบันไต้หวันพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ภาคฮาร์ดแวร์เทคโนโนโลยีขั้นสูง (Hi-tech Hardware) ครองสัดส่วนถึง 30% ของเศรษฐกิจไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันส่งออกชิปคิดเป็น 60% ของโลก
แผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Bilingual ของไต้หวัน
ตามแผนของทางการ โรงเรียน 210 แห่งในกรุงไทเปควรเปิดสอน 2 ภาษาภายในปี 2026 และโรงเรียนทั้งหมดในนิวไทเปซิตี้จะมีหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนเต็มรูปแบบภายในปี 2030
นอกจากนี้ สำหรับเมืองอื่นๆ ก็มีการกำหนดเป้าหมายโรงเรียนที่ควรมีความพร้อมในการดำเนินการสอน 2 ภาษา ภายในระยะเวลา 7 ปีข้างหน้าแล้วด้วย
แม้รัฐบาลไม่ได้กล่าวถึงการแปลเอกสารราชการทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากฎหมายในสถานที่ต่างๆ เช่น ศาล หรือรัฐสภา แต่ก็มีการเรียกร้องให้มียกระดับการใช้ภาษาอังกฤษภายในระบบราชการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: