ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศคำเตือนไปยังชาติตะวันตกว่า เขาพร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องดินแดนรัสเซีย ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่ารวมถึงดินแดนในยูเครนที่ผนวกรวมกับรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยความวิตกกังวลว่า ปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธร้ายแรงที่สุดที่โลกรู้จักอย่าง ‘อาวุธนิวเคลียร์’
ตัวเลือกที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปูตินจะนำมาใช้คือ ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapon)’ ที่มีขนาดเล็กกว่า ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Nuclear Weapon)’ ที่โลกเราเคยเผชิญเมื่อ 77 ปีที่แล้ว จากกรณีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก ถล่มเกาะฮิโรชิมาและนางาซากิ โดยฝีมือกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี 1945 ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายล้างที่รุนแรงและมีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 2.2 แสนคน
ความน่าสะพรึงกลัวของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งนั้น ส่งผลให้ทั่วโลกเข้าสู่ยุคแห่งการป้องปรามนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrence) ที่ประเทศมหาอำนาจต่างแข่งขันพัฒนาและครอบครองอาวุธร้ายชนิดนี้ ทั้งที่รู้ดีว่าการใช้มันจะเป็นหายนะต่อมนุษยชาติ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกประเทศต่างพยายามหาข้อตกลงเพื่อยับยั้งการแพร่ขยายและหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่คำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ของปูตินที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และยืนยันว่าไม่ใช่แค่การ ‘ข่มขวัญ’ ทำให้ทั้งโลกตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวและความไม่พอใจ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประณามคำขู่ดังกล่าวว่า ‘บ้าบิ่น’ และ ‘ไม่รับผิดชอบ’ และจะเป็นการขยายสถานการณ์ให้ตึงเครียดรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ทำเนียบขาวประกาศคำเตือนเมื่อวันอาทิตย์ (25 กันยายน) ว่าให้ระวัง ‘ผลลัพธ์ร้ายแรงที่ตามมา’ หากรัสเซียตัดสินใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์
นักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่ปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นยังยากจะคาดเดา แต่ไม่อาจปฏิเสธได้หากประเมินจากหลายปัจจัยรอบด้านที่บีบคั้นรัสเซียในขณะนี้ โดยเฉพาะความถดถอยในสงครามยูเครนที่กำลังต้อนเขาให้จนมุม
รู้จัก ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี’ และความแตกต่างกับ ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์’
- ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี’ คือหัวรบนิวเคลียร์และระบบยิงที่มีขนาดเล็ก ซึ่งพัฒนาขึ้นในยุคสงครามเย็น และถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับสนามรบหรือการโจมตีแบบจำกัดวง เพื่อทำลายเป้าหมายในพื้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น ทำลายแนวรถถังหรือเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีในวงกว้าง และอาจเรียกได้ว่าเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ ‘ให้ผลต่ำ (Low Yield)’
- อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีขนาดเล็กที่สุด อาจมีน้ำหนัก 1 กิโลตันหรือน้อยกว่านั้น หรือเทียบได้กับระเบิด TNT ขนาด 1,000 ตัน และอาจมีขนาดใหญ่สุดได้ถึง 100 กิโลตัน
- ในขณะที่อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์นั้นจะมีขนาดใหญ่กว่า และถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเมืองทั้งเมือง โดยอาจใหญ่ได้ถึง 1,000 กิโลตัน และยิงจากระยะไกลกว่า เช่น ติดตั้งในเรือดำน้ำ เครื่องบินทิ้งระเบิด หรือขีปนาวุธข้ามทวีป โดยรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ 500 ถึง 800 กิโลตัน
- หากดูจากข้อมูลเปรียบเทียบดังกล่าว ใครที่คิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีจะมีอานุภาพทำลายล้างแบบ ‘ให้ผลต่ำ’ นั้น อาจจะเข้าใจผิด เพราะอย่างที่บอกว่าขนาดที่ใหญ่สุดได้ถึง 100 กิโลตัน ก็มากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเกาะฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งมีขนาด 15 และ 21 กิโลตัน
- อเล็กซ์ เวลเลอร์สไตน์ (Alex Wellerstein) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันเทคโนโลยีสตีเวนส์ (Stevens Institute of Technology) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า ความแตกต่างที่แท้จริงของอาวุธนิวเคลียร์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าให้ผลต่ำหรือสูงแค่ไหน แต่อยู่ที่ ‘เป้าหมาย’
- โดยระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้โจมตีญี่ปุ่นนั้น เป็นการโจมตีในเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าทำลายขวัญกำลังใจ และสร้างความหวาดกลัวให้ผู้บังคับบัญชากองทัพญี่ปุ่นยอมจำนน ซึ่งสิ่งที่ให้ผลในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 15 กิโลตันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะพุ่งเป้าไปที่ไหน
- ขณะที่ เจมส์ แมตทิส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า อาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 2 แบบนั้นไม่แตกต่างกันเลย
“ผมไม่คิดว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี อาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ที่ใช้ได้ตลอดเวลาคือตัวเปลี่ยนเกมเชิงกลยุทธ์” เขากล่าวในการไต่สวนในสภาคองเกรสเมื่อปี 2018
รัสเซียมี ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี’ แบบไหน จำนวนเท่าไร?
- สมาคมควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) ซึ่งเป็นองค์กรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ เผยแพร่ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลกถึง 6,257 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์ 5,550 หัวรบ
- สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) ระบุในข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หรือก่อนเกิดสงครามยูเครน พบว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ติดตั้งและสำรองไว้ทั้งหมด 4,477 หัวรบ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ 1,588 หัวรบที่ติดตั้งในขีปนาวุธนำวิถี และเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ นอกจากนั้น มีหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ 977 หัวรบ และหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี 1,912 หัวรบที่เก็บสำรองไว้
- ปัจจุบัน รัสเซียมีระบบอาวุธ 2 แบบที่สามารถยิงหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่ติดตั้งบนขีปนาวุธพิสัยใกล้ ได้แก่ ขีปนาวุธ Iskander-M ซึ่งมีพิสัยโจมตีราว 400-500 กิโลเมตร และขีปนาวุธ Kalibr (SS-N-30) หรือขีปนาวุธร่อนที่ยิงจากเรือรบและเรือดำน้ำ ซึ่งมีพิสัยโจมตีไกลถึง 1,500-2,500 กิโลเมตร
- ขณะที่รัสเซียยังคงดำเนินโครงการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยและครอบคลุม โดยมีเป้าหมายเพื่อแทนที่อาวุธยุคสหภาพโซเวียตส่วนใหญ่ ภายในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2020 ซึ่งข้อมูลจากทางสหรัฐฯ ระบุว่า ช่วงไม่นานนี้ รัสเซียได้ลงทุนอย่างมากในการปรับปรุงพิสัยการโจมตีและความแม่นยำของอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี
ที่ผ่านมา ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี’ เคยถูกนำมาใช้หรือไม่
- จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ประเทศใดที่ต้องการจะเสี่ยงก่อสงครามนิวเคลียร์ด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี
- อย่างไรก็ตาม หากดูจากสถานการณ์ตึงเครียดในตอนนี้ เป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเต็มใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่มีขนาดเล็ก มากกว่าใช้ขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า
- ดร.แพทริเซีย ลูอิส หัวหน้าโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ ของสถาบันนโยบายระหว่างประเทศ Chatham House กล่าวว่า “พวกเขา (รัสเซีย) อาจจะไม่ได้มองมันเป็นการข้ามเส้นแบ่งนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ พวกเขาอาจเห็นมันเป็นส่วนหนึ่งในแบบแผนของกองทัพ”
คำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ของปูติน น่ากังวลจริงหรือ?
- ก่อนบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศให้กองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ “เตรียมพร้อมรบพิเศษ” และมีการจัดการฝึกซ้อมรบด้านนิวเคลียร์
- และในการประกาศคำขู่ล่าสุด เขากล่าวว่า “หากบูรณภาพแห่งดินแดนในประเทศของเราถูกคุกคาม เราจะใช้ทุกวิถีทางที่มีอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย เพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชนของเรา นี่ไม่ใช่การข่มขวัญ”
- โดยรัสเซียวางแผนที่จะผนวกแคว้นต่างๆ ทางตอนใต้และตะวันออกของยูเครนที่รัสเซียเข้ายึดครอง ได้แก่ โดเนตสก์ และลูฮันสก์ หลังจากที่เสร็จสิ้นการจัดลงประชามติในวันนี้ (27 กันยายน) ซึ่งแน่นอนว่า ดินแดนเหล่านี้จะถือเป็นส่วนหนึ่งในบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซียหลังการผนวกรวมเสร็จสิ้น
- หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ มองว่า ท่าทีของปูตินเป็นการขู่ไม่ให้ชาติตะวันตกช่วยเหลือยูเครนในการพยายามยึดดินแดนคืนจากรัสเซีย มากกว่าจะเป็นสัญญาณว่าเขากำลังวางแผนทำสงครามนิวเคลียร์
- อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่าหากรัสเซียประสบกับความถดถอยเพิ่มเติม เขาอาจถูกยั่วยุให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในสงครามยูเครนเพื่อ ‘พลิกเกม’ และหลีกเลี่ยงการพ่ายแพ้
สหรัฐฯ มีท่าทีอย่างไร?
- โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ CBS News เตือนรัสเซียว่า อย่าใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวจะ “เปลี่ยนการเผชิญหน้าของสงคราม ซึ่งแตกต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 2” และจะ “มีผลลัพธ์ที่ตามมา”
- วิธีที่สหรัฐฯ และ NATO จะตอบสนองต่อการใช้นิวเคลียร์ใดๆ ของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา เพราะพวกเขาอาจไม่ต้องการขยายสถานการณ์ตึงเครียดออกไปอีก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ แต่อาจต้องมีการขีดเส้น
- อย่างไรก็ตาม รัสเซียอาจถูกขัดขวางหรือห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีโดยพันธมิตรมหาอำนาจอย่างจีน
- โดย ดร.ฮีเธอร์ วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของคิงส์คอลเลจ ลอนดอน (King’s College London) กล่าวว่า “รัสเซียนั้นพึ่งพาการสนับสนุนจากจีนอย่างมาก และจีนมีหลักการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ดังนั้นหากปูตินจะใช้มัน จะเป็นเรื่องยากอย่างมากสำหรับจีนที่จะยืนเคียงข้างรัสเซีย”
ภาพ: Photo by Pavel Pavlov / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: