ข่าวกระแสการเรียกร้องเอกราชของแคว้นกาตาลุญญาเหมือนจะเงียบหายไปจากหน้าสื่อต่างๆ สักระยะหนึ่งแล้ว หลังจากที่มีความพยายามในการประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดจะใช้สิทธิตามมาตรา 155 ประกาศยุบสภาแคว้นและประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในที่สุด
แต่ดูเหมือนว่าวิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญาครั้งนี้จะยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น ภายหลังจากที่ฝ่ายสนับสนุนการประกาศแยกตัวเป็นเอกราช (Pro-Independence) ยังคงเป็นฝ่ายชนะเสียงข้างมากในสภาแคว้นอีกสมัย (70 จาก 135 ที่นั่ง) แม้ว่าผู้สมัครหญิงเพียงคนเดียวจากพรรค Ciudadanos อย่างนางอิเนส อาร์รีมาดัส ที่สนับสนุนความเป็นเอกภาพของสเปน (Pro-Unity) จะเป็นฝ่ายได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ตาม
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวคาตาลันในเมืองใหญ่อย่างบาร์เซโลนาและตาร์ราโกนากลับเทคะแนนโหวตให้กับพรรค Pro-Unity มากกว่าที่จะสนับสนุนกลุ่มที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน และได้ปลุกกระแสล้อเลียนแคว้นกาตาลุญญาขึ้นอีกครั้งในโลกออนไลน์
ทำความรู้จัก ‘ตาบาร์เนีย’ ดินแดนล้อเลียน (ที่ไม่ได้มีอยู่แค่) ในจินตนาการ
กระแสล้อเลียนความฝันของชาวคาตาลันที่อยากจะมีประเทศเป็นของตนเองค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในสังคมสเปน มีการสร้างแอ็กเคานต์ในสื่อออนไลน์มากมายจากฝ่าย Pro-Unity โดยเฉพาะในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กถูกพูดถึงมากกว่า 648,000 ครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลังผลการนับคะแนนเสร็จสิ้น เกิดไวรัลและมีมล้อเลียนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศตัวว่า ตนเองก็เป็นชาวตาบาร์เนีย หรือแม้แต่การ์ตูนตินตินตอนล่าสุด อย่างตอนผจญภัยในดินแดนตาบาร์เนีย
ฝ่ายสนับสนุนความเป็นเอกภาพในสเปนพูดติดตลกว่า ตอนนี้ตาร์บาเนียไม่ได้เป็นพื้นที่ในจินตนาการอีกต่อไปแล้ว ดินแดนแห่งนี้มีทั้งธงชาติ อาณาเขตที่แน่นอน รวมถึงมีประธานาธิบดีเป็นของตนเอง เรียกได้ว่ามีก่อนที่แคว้นกาตาลุญญาจะแต่งตั้งผู้นำคนใหม่เสียอีก
โดยใช้ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอ้างอิงให้บาร์เซโลนาและตาร์ราโกนา คือ พื้นที่ของดินแดนตาบาร์เนียที่ต้องการจะแยกตัวเป็นเอกราชจากแคว้นกาตาลุญญาและเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป ผ่านการชูสโลแกน ‘Barcelona is not Catalonia’ ซึ่งล้อไปกับสโลแกนของกลุ่ม Pro-Independence ก่อนหน้านี้ที่ว่า ‘Catalonia is not Spain’ นั่นเอง
การล้อเลียนยังไปไกลมากกว่านั้น รัฐบาลท้องถิ่นของตาบาร์เนียยังแต่งตั้งให้นักแสดงวัย 74 ปีอย่างนายอัลเบิร์ต โบอาเดญา (Albert Boadella) แสร้งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของตาบาร์เนียอย่างเป็นทางการขณะลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน พร้อมเผยแพร่วิดีโอดังกล่าวในโลกออนไลน์ เพื่อล้อเลียนนายการ์เลส ปิกเดมองต์ อดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่เผชิญข้อหาก่อการกบฏ ปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาลกลาง และใช้งบประมาณของรัฐในทางมิชอบ จนต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังเบลเยียมและยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้
https://www.youtube.com/watch?v=gQNCh8mJtqs&t=54s
ว่าที่ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาคนใหม่แต่หน้าเก่ายังไม่ได้รับการแต่งตั้ง
ถึงแม้ว่าตาบาร์เนียจะเป็นเรื่องชวนหัวที่เกิดขึ้นในสังคมสเปน โดยเฉพาะในกรุงมาดริด แต่สำหรับชาวคาตาลันที่ยังคงสนับสนุนนายการ์เลสและฝ่าย Pro-Independence ให้เดินหน้าเรียกร้องเอกราชต่อไปอาจจะขำไม่ค่อยออกเสียแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตามกำหนดการเดิม สภาแคว้นกาตาลุญญาจะต้องมีมติแต่งตั้งผู้นำแคว้นคนใหม่ภายในวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำแคว้นคนใหม่ได้และเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก
สาเหตุสำคัญมาจากการที่นายการ์เลสไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาภายในสเปนได้ เนื่องจากมีความผิดติดตัว ซึ่งอาจจะได้รับโทษจำคุกสูงสุดนานถึง 30 ปี จึงมีความพยายามที่จะปกครองและบริหารแคว้นจากต่างประเทศแทน จนหลายฝ่ายมองว่า กาตาลุญญากำลังจะมีประธานาธิบดีวิดีโอคอลคนแรกของแคว้นหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมารีอาโน ราฆอย หลังไม่ประสบความสำเร็จในการกำจัดตัวหมากสำคัญในเกมการเลือกตั้ง ยืนยันจะไม่คืนอำนาจให้แก่แคว้นกาตาลุญญา หากสภาแคว้นอนุญาตให้นายการ์เลสบริหารแคว้นผ่านทางวิดีโอคอลจากต่างประเทศเท่านั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญของสเปนตัดสินว่า นายการ์เลสไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ หากไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนภายในสภาท้องถิ่น อีกทั้งยังประกาศเตือนนายโรเจอร์ ทอร์เรนท์ ประธานสภาและสมาชิกสภาคนอื่นๆ อาจถูกพ่วงข้อกล่าวหา หากเห็นชอบกับการบริหารงานผ่านวิดีโอคอลดังกล่าว ซึ่งทำให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้ยังคงติดหล่มอยู่ในปัจจุบัน
ทางออกของวิกฤตในครั้งนี้อาจเกิดขึ้นจากการเจรจารอมชอมกันระหว่างรัฐบาลสเปนและนายการ์เลส โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลสเปนนิรโทษกรรมให้แก่นายการ์เลส แลกกับคำมั่นสัญญาที่ว่าจะต้องไม่นำพาแคว้นกาตาลุญญาเดินไปถึงจุดแตกหักและประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนอีกครั้ง แต่ถ้าหากการพูดคุยไม่สบผลสำเร็จ ชาวคาตาลันอาจจำเป็นต้องยุติการยึดติดที่ตัวบุคคล และให้ ‘หมากตัวใหม่’ ขึ้นรับภาระและทำหน้าที่ในการบริหารแคว้นกาตาลุญญานี้แทนนายการ์เลส เพื่อทำตามความฝันที่อยากจะมีประเทศเป็นของตนเองต่อไป
ประธานสภายืนยันว่า นายการ์เลสคือผู้สมัครเพียงคนเดียวที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของชาวคาตาลันได้ ซึ่งทางรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดไม่มีทางยินยอมโดยง่ายอย่างแน่นอน และท้ายที่สุดหากจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนหัวโขนคนใหม่ เพื่อให้เกมการเมืองเดินต่อไปได้จริงๆ คำถามสำคัญคือ ใครเหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแคว้นกาตาลุญญาแทนนายการ์เลสที่ลี้ภัยอยู่ที่เบลเยียม
วิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญาครั้งนี้จะออกหัวออกก้อย หรือเป็นไปในทิศทางไหน อีกไม่นานได้รู้กัน
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/blogs-trending-42777496
- www.theguardian.com/world/2018/jan/16/fictional-region-tabarnia-aiming-leave-catalonia-appoints-president
- www.nytimes.com/2018/02/04/world/europe/carles-puigdemont-catalonia.html
- www.nytimes.com/2018/01/30/world/europe/spain-catalonia-carles-puigdemont.html
- es.euronews.com/2017/12/27/-vaya-con-tabarnia-?utm_term=Autofeed&utm_campaign=Echobox&utm_medium=Social&utm_source=Twitter#link_time=1514415797
- twitter.com/search?src=typd&q=tabarnia