แบงก์ชาติชี้กรณี SVB ล้มกระทบเสถียรภาพระบบการเงินไทยจำกัด เผยแบงก์ไทยมีปริมาณธุรกรรมกับฟินเทคและสตาร์ทอัพทั่วโลกน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุน และถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำ ด้านกระทรวงการคลังสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามใกล้ชิด เชื่อไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า กรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน Venture Capital บริษัทฟินเทค และบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากหรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคารและความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมโดย FDIC ตามที่เป็นข่าว
จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลง และราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโตเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ อย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในฟินเทคและสตาร์ทอัพทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ Venture Capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน
ขณะที่ค่าเงินบาทล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป
ด้าน พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
“เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ หรือระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ในการนี้ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ