×

Suzuki ยุติการผลิตในไทย! สิ้นสุดตำนานอีโคคาร์ สู่ยุครถยนต์นำเข้า สะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยุคเปลี่ยนผ่าน

14.06.2024
  • LOADING...
Suzuki

HIGHLIGHTS

  • ก่อนหน้านี้ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องออกมาแถลงการณ์อย่างเร่งด่วนว่าจะไม่ยุติการทำตลาดในไทย หลังมีข่าวลือว่าจะปิดแบรนด์ไป แต่ไม่นานหลังจากนั้นซูซูกิก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะยุติการผลิตรถยนต์ในไทยในสิ้นปี 2025 สร้างความสับสนให้กับแฟนๆ ในไทยเป็นอย่างมาก
  • ซูซูกิ มอเตอร์ เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2010 ภายใต้โครงการอีโคคาร์ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้นที่จังหวัดระยองและประสบความสำเร็จมาได้ระยะหนึ่ง แต่ในปี 2023 รถยนต์ 3 รุ่นหลักของซูซูกิเข้าสู่ช่วงปลายอายุ แต่กลับไม่มีข่าวเปิดตัวรุ่นใหม่ มีเพียงการลดราคาล้างสต็อก จนหลายคนเริ่มสงสัย ก่อนที่ซูซูกิจะประกาศปิดโรงงานในที่สุด
  • ถึงแม้จะปิดโรงงาน แต่ซูซูกิยืนยันว่าจะยังทำตลาดในไทยต่อไป โดยจะนำรถจากอินโดนีเซียเข้ามาขาย ต่างจากเชฟโรเลตที่ถอนตัวไปเลย ส่วนเรื่องโชว์รูม ศูนย์บริการ และอะไหล่ ก็ยังมีต่อเนื่อง เพียงแต่อาจลดจำนวนลงตามยอดขาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในธุรกิจ
  • กรณีการปิดโรงงานของซูซูกิถือเป็นโดมิโนตัวที่สองต่อจากซูบารุ จึงทำให้หลายคนสงสัยว่าจะมีแบรนด์ใดที่จะเป็นโดมิโนตัวต่อไป ต้องรอติดตามกันต่อไปในอนาคต

จากข่าวลือที่สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการยานยนต์ไทยว่า ‘ซูซูกิจะปิดแบรนด์’ และทิ้งเมืองไทยไป โดยผู้ใช้งานท่านหนึ่งอ้างข้อมูลการปิดโชว์รูมและกล่าวว่า ‘ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จะเลิกกิจการ’ ทำให้ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องออกแถลงการณ์อย่างเร่งด่วนว่า “จะยังคงอยู่ทำตลาดในประเทศไทยต่อไป ไม่หายไปไหน”

 

แต่แล้ว ระยะเวลาห่างกันไม่นาน ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ก็ได้ออกแถลงการณ์อีกครั้ง สร้างความตกใจให้แก่แฟนคลับชาวไทย ด้วยการประกาศว่า ‘จะยุติกิจการของโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยในสิ้นปี 2025’

 

มันเกิดอะไรขึ้น อย่างไร เหตุใดซูซูกิจึงต้องดำเนินการกระชากจิตใจชาวไทยเช่นนี้!

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เริ่มต้นด้วย ‘อีโคคาร์’

 

ขออนุญาตเท้าความถึงการเข้ามาทำตลาดของ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กันเป็นลำดับแรก โดยย้อนกลับไปในช่วงราวปี 2010 ที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานหรือ ‘อีโคคาร์’ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี

 

และหนึ่งในนั้นได้เชิญ ซูซูกิ มอเตอร์ เข้ามาลงทุนภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลผ่านโครงการดังกล่าว ซึ่งมีการตั้งบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) และก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นที่จังหวัดระยอง

 

ทั้งนี้ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้ดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรถยนต์ที่ผลิตภายใต้โครงการอีโคคาร์ทั้งเฟสหนึ่งและเฟสสองจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ Swift, Ciaz และ Celerio ที่สามารถทำยอดขายเติบโตตามวัฏจักรของการจำหน่ายรถยนต์ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งถึงปี 2023 ที่ทั้ง 3 โมเดลดังกล่าวเข้าสู่ช่วงปลายอายุของการทำตลาด 

 

ซึ่งโดยปกติจะต้องมีข่าวการเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่ามีเพียงการลดราคาล้างสต็อกในรุ่น Ciaz และ Celerio แทน อันเป็นเหตุให้หลายคนเกิดข้อสงสัย ก่อนที่แถลงการณ์จะถูกเปิดเผยในเวลาอีกไม่นาน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องตัดสินใจแบบนั้นเราวิเคราะห์แล้วมีดังนี้

 

 

เจาะเหตุผลที่ไม่ไปต่อ

 

เหตุผลแรก สิ้นสุดโครงการอีโคคาร์ ด้วยในปี 2025 การสนับสนุนของรัฐบาลในโครงการอีโคคาร์จะสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้รถยนต์ที่ผลิตในโครงการดังกล่าวนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป ส่งผลให้ราคาจะสูงขึ้นจากปัจจุบันทันทีในระดับ 30,000-50,000 บาทต่อคัน กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรงในเวลานี้

 

ประการต่อมา หลังการหารือที่ญี่ปุ่นกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเสร็จสิ้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันสนับสนุนโครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยไม่มีโครงการอีโคคาร์เฟสสาม รวมถึงไม่มีการส่งเสริมรถไฮบริดเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าบีบให้ค่ายรถญี่ปุ่นต้องลงทุนก้อนใหม่สำหรับโครงการผลิตรถอีวี

 

ประการถัดไป ตลาดรถยนต์ไทยกำลังหดตัว ด้วยปัจจัยหลากหลายด้านทั้งเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมาก ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การประเมินสภาพตลาดมีความยากเป็นทวีคูณ

 

รวมถึงเหตุผลด้านต้นทุนการผลิต ที่ต้องยอมรับว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยมีผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง เมื่อซูซูกิมีโรงงานอยู่แล้วทั้งในอินโดนีเซียและอินเดีย รวมถึงญี่ปุ่น ทำให้เมื่อต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม ทางเลือกในการปิดโรงงานบางแห่งเปรียบเหมือนตัดนิ้วเพื่อรักษาร่างกายเอาไว้ จึงจำเป็นต้องทำ

 

ขณะเดียวกัน จากการเปิดเผยข้อมูลผลประกอบการของ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในช่วงระยะเวลา 10 ปีหลังสุด เราได้เห็นตัวเลขการขาดทุนสะสมสูงถึงระดับ 2,000 กว่าล้านบาท ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลเชิงบวกในการสนับสนุนให้ซูซูกิยังคงการผลิตในประเทศไทยเอาไว้

 

 

อนาคตซูซูกิในไทย

 

หลายคนจะห่วงว่าแล้วในท้ายที่สุดซูซูกิจะหนีจากเมืองไทยไปเหมือนกับเชฟโรเลต คำพยากรณ์ของผู้เขียนขอทายว่าไม่หนีหายไปไหนในห้วงเวลาสิบปีนับจากนี้แน่นอน 

 

ด้วยแผนงานต่างๆ ที่วางเอาไว้แล้ว ทั้งแผนการนำเข้ารถจากอินโดนีเซียที่ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้า ราคาจะเท่ากับรถที่ผลิตในไทย 

 

ซึ่งจุดนี้คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของซูซูกิกับเชฟโรเลต เนื่องจากเชฟโรเลตไม่มีแผนการทำตลาดรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ตรงข้ามกับซูซูกิที่มีการนำเข้ามาทำตลาดอยู่แล้วจึงเป็นการเพิ่มรุ่นที่นำเข้ามา ลดภาระในเรื่องของการบริหารจัดการโรงงานออกไป ทำให้คล่องตัวในการดำเนินกิจการมากขึ้นอีกด้วย เพียงแค่อาจจะต้องรอรถนานและการควบคุมคุณภาพอาจจะยังสู้เมืองไทยไม่ได้

 

โชว์รูมและศูนย์บริการของซูซูกิจะยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าจำนวนรุ่นรถที่ขายและบริการการขายอาจจะน้อยลง ทำให้มีบางโชว์รูมที่ยอดขายน้อยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็จะปิดตัวลงหรือหันไปขายยี่ห้ออื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจโดยทั่วไป ไม่มีใครทนขายของขาดทุนตลอดไปได้ 

 

ส่วนเรื่องของอะไหล่ ตามกฎหมายจะต้องมีการสำรองอะไหล่เริ่มต้นนับหลังจากรถคันสุดท้ายขายออกไปเป็นระยะเวลา 10 ปี ฉะนั้นลูกค้าซูซูกิทุกคนจึงเบาใจได้ในระดับหนึ่ง 

 

ประเด็นสำคัญประการสุดท้าย หลายคนน่าจะสงสัยว่าหาก ‘ซูบารุ’ คือโดมิโนตัวแรก แล้ว ‘ซูซูกิ’ คือโดมิโนตัวที่สอง แล้วแบรนด์ใดจะจากไปเป็นโดมิโนตัวที่สาม…คำตอบ…ต้องรอลุ้นกันต่อไป

 

ภาพ: Supermop, Bigc Studio, UM-UMM / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising