×

สุวพันธ์ุเตรียมลงพื้นที่เชียงใหม่ หารือ 17 เครือข่ายคัดค้านหมู่บ้านป่าแหว่ง วิษณุลั่น ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้ ม.44

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2018
  • LOADING...

สำหรับความคืบหน้ากรณีบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ล่าสุด นายสุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้จะเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อพูดคุยกับ 17 เครือข่ายคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้จะมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมคณะไปด้วย โดยคาดว่าการประชุมในวันดังกล่าวจะพยายามรับฟังความเห็นและพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

 

การเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากรับฟังความคิดเห็นร่วมกันและหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจะได้นำข้อคิดเห็นที่ประชาชนรวมถึงสังคมโซเชียลเสนอแนะเพื่อให้ทุกอย่างเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยอาจจะต้องจัดทำเป็นขั้นตอน หรือเป็นระยะหนึ่ง ระยะสอง และระยะสาม ทั้งนี้นายสุวพันธ์ุยอมรับว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่สังคมรวมถึงประชาชนให้ความสนใจ มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งคงจะพิจารณาถึงแนวทางที่เป็นไปได้และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ เช่น เรื่องของการกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือการรื้อถอนมาพูดคุย ซึ่งทั้งหมดจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการ นอกจากนี้ผลของการหารืออาจจะไปสู่การตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานต่อไป หรือหากได้ข้อสรุปก็คงจะต้องรอให้ถึงวันดังกล่าวก่อน เพราะทุกอย่างจะมีความเชื่อมโยงกัน

 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่าขณะนี้ไม่รู้สึกกังวลกับสถานการณ์ ส่วนการลงพื้นที่ของนายสุวพันธุ์เป็นการลงพื้นที่โดยสุจริตใจ จากการติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านยังไม่พบสัญญาณที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง ตุลาการ ประชาชน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องร่วมกันให้ความเห็นในเชิงต่างๆ แต่จะต้องระมัดระวังในเรื่องการพูดจาไม่ให้กระทบกระเทือนศาล เนื่องจากแนวคิดการสร้างบ้านพักตุลาการมีมานานแล้ว และศาลถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้

 

นอกจากนี้ นายวิษณุยังระบุด้วยว่าสำหรับการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหานี้ ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น และการใช้มาตรา 44 ต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้การทุบตึกหรือรื้อถอนทรัพย์สินทางราชการ ส่วนข้อเสนอการทำประชามติถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจจะต้องใช้แนวทางอื่น เช่น ประชาพิจารณ์ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทำเนียบรัฐบาลยังได้เปิดช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ รวมถึงหากใครต้องการเปิดเพจรับฟังความคิดเห็นก็สามารถทำได้เช่นกัน เพื่อจะได้นำมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising