×

สุทินเชื่อเศรษฐาพูดถูก รัฐประหารคุมไม่ได้ มองบริบทเปลี่ยนไม่ซ้ำรอยปี 49 รับคุยจีนเปิดข้อเสนอใหม่ ยกเลิกเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
01.04.2024
  • LOADING...
สุทิน คลังแสง

วันนี้ (1 เมษายน) ที่กองพันทหารสื่อสารที่ 1 เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศถึงปัจจัยการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ว่า ท่านนายกฯ ก็พูดถูก เรื่องนี้ถ้ามันจะเกิด กฎหมายก็ควบคุมไม่ได้  

 

ส่วนทางการบริหารนั้นไม่ง่าย แต่ที่จะควบคุมได้คือจิตวิทยาสังคม ความต้องการของประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะผ่านมาไกลพอสมควร  

 

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกองทัพ ณ ตอนนี้ สุทินกล่าวว่า เป็นไปโดยปกติ ส่วนจะต้องถอดบทเรียนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยมักถูกทำรัฐประหาร ก็แล้วแต่บริบท แต่ตนคิดว่าบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ไม่มีสัญญาณ และ ผบ.เหล่าทัพทุกคนเป็นคนรุ่นใหม่ ความคิดดีๆ ความคิดใหม่ๆ ทั้งนั้น 

 

ส่วนที่มีการขัดใจทหารในการจัดซื้ออาวุธมองว่าจะเป็นปัจจัยในการทำรัฐประหารหรือไม่ สุทินกล่าวว่า ไม่หรอก ถ้าเรามีเหตุผล ขออย่าไปค้านโดยไม่มีเหตุผล หรือคิดเป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือทำประโยชน์ทางการเมืองให้กับตัวเอง ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา เราก็หลีกเลี่ยงเรื่องอย่างนี้ไม่ให้เกิด 

 

มั่นใจรัฐบาลไม่เลียท็อปบู๊ตทหาร ชี้มีหลายเรื่องขัดใจ 

 

เมื่อถามว่า การที่นายกฯ ออกมาระบุถึงกรณีที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลียรองเท้าบู๊ตทหาร สุทินกล่าวว่า มองด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอะไรที่ไปเอาใจกัน ไม่มีเลย หลายเรื่องก็ยังขัดใจกันอยู่ อยากจะซื้อเรือก็ไม่ได้เรือ และในเร็วๆ นี้มาตรการการซื้ออาวุธก็จะออกมาเป็นแบบแพ็กเกจรวม ตอนนี้ตนได้ให้ที่ปรึกษารัฐมนตรี พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และปลัดกระทรวงกลาโหม ไปศึกษาอย่างเร่งด่วน เมื่อจบงบประมาณปี 2568 ไปปีงบประมาณ 2569 ต้องจัดซื้อแบบใหม่ 

 

เมื่อถามย้ำว่า ก่อนปี 2549 มีการทำแพ็กเกจและนำเงินงบประมาณไปทำนโยบายประชานิยมก่อนถูกปฏิวัติ สุทินกล่าวว่า ตอนนั้นกับตอนนี้คงไม่เหมือนกันแล้ว วันนี้กองทัพรู้ว่าสังคมก้าวไปขั้นไหน ก็ต้องปรับตัวอยู่ เราก็บริหารไปบนความต้องการของประชาชน เขาก็รู้ ถ้าเราบริหารบนความต้องการของตัวเองมันก็จะยุ่ง เราก็ยึดหลักนี้ไว้ 

 

รับคุยจีนเปิดข้อเสนอใหม่ ยกเลิกเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำ 

 

สุทินยังกล่าวถึงการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อพูดคุยเจรจาเรื่องเรือดำน้ำว่า อยากให้จบ เพราะเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นเมื่อเข้ารับตำแหน่งที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้น แต่ยังมีความกำกวมเรื่องข้อกฎหมาย จึงส่งให้หลายหน่วยงานตีความ จากนั้นจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรับฟังข้อมูล พร้อมหาทางออกไว้หลายทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการตีความและผลของคณะทำงาน จึงได้เดินทางไปจีนเพื่อหารือว่าแนวทางใดบ้างที่จีนจะร่วมมือกับเราและเป็นไปได้ในข้อกฎหมายและคณะทำงานของเรา

 

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องฟังความเห็น ครม. เพราะการจะเป็นมติใดๆ ทุกคนต้องรับผิดชอบว่าเขาสบายใจหรือไม่สบายที่จะต้องเลือกแต่ละแนวทาง การไปจีนผมได้เสนอหลายแบบ ถ้าเดินหน้าเรือดำน้ำจะเป็นอย่างไร โดยจะทำอย่างไรให้ ครม. สบายใจ สังคมเข้าใจ แนวทางที่ 2 คือการยกเลิกได้ไหม ถ้ายกเลิกเงินงวดที่จ่ายไปก่อนจะทำอย่างไร ซึ่งเรากับจีนมีความเห็นตรงกันหลายเรื่องที่มีประโยชน์ โดยหลักที่ผมนึกก็คือกองทัพเรือได้ประโยชน์ และตรงใจเขามากที่สุด อาจจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ First Choice แต่อาจเป็น Second Choice 

 

“ซึ่งข้อแรกต้องเป็นไปตามแผนที่กองทัพเรือวางไว้ ข้อที่สอง เงินที่จ่ายไปต้องไม่สูญหาย และข้อที่สาม ประเทศต้องได้ประโยชน์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีว่าเราจะได้ทั้งสามอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเงินที่เราจ่ายไปก่อน ไม่ว่าออกทางไหนเงินก็ไม่สูญเปล่า เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้วก็ให้กองทัพเรือไปทำการบ้าน ซึ่งทางฝั่งจีนก็กลับไปทำการบ้านเช่นกัน” สุทินกล่าว

 

สุทินเปิดเผยด้วยว่า ในวันนี้คุยกันอีกขั้นตอนหนึ่งผ่านวิดีโอคอลกับทางจีน ถ้าวันนี้ได้ข้อยุติก็จบ ถ้าไม่จบก็ต้องเดินทางไปจีนอีกรอบ ต้องยอมรับว่าพูดคุยเรื่องครั้งเดียวคงยาก แต่จะทำให้จบเร็วที่สุด 

 

ชี้สังคมไทยไม่มั่นใจคุณภาพ ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ 

 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำแล้วไปซื้อเรือฟริเกตแทนนั้น สุทินกล่าวว่า เรือดำน้ำก็เป็นทางเลือกหนึ่งว่าเป็นเรือจีน (เครื่องยนต์) แต่เราสบายใจได้หรือไม่ว่าคุณภาพได้รับการอ้างอิงและรับรอง ซึ่งสังคมไทยยังติดใจอยู่ว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลง และยังไม่มั่นใจในคุณสมบัติในเครื่องยนต์ (CHD 620) ที่ไม่เคยใช้ที่ใด ซึ่งตนก็ได้แสดงความเห็นใจกับทางเขาไปด้วย เพราะเขาได้ดำเนินโครงการมาแล้ว ดังนั้นจะพบกันตรงไหนไม่ให้สองฝ่ายเสียประโยชน์

 

ส่วนถ้าเปลี่ยนเรือฟริเกต หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ก็ต้องถามกองทัพเรือว่ารับทางเลือกนี้ได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่สรุปว่าเป็นแนวทางใด แต่ทุกแนวทางเป็นประโยชน์กับประเทศ เชื่อว่าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจบภายในเดือนเมษายน 2567 

 

เมื่อถามว่า ข้อเสนอยกเลิกโครงการเรือดำน้ำมาจากฝั่งรัฐบาลหรือคณะกรรมการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมโครงการจัดหาเรือดำน้ำระยะที่ 1 ของกระทรวงกลาโหม สุทินกล่าวว่า คณะกรรมการฯ เสนอ 2-3 แนวทาง ทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อใดปฏิบัติได้หรือไม่ได้ และต้องฟัง ครม. และพรรคร่วมด้วย อะไรที่ไม่สบายใจเราก็ไม่อยากทำ

 

‘จีน’ ไม่ได้แข็งกร้าว เล็งหารือราคา-เงื่อนไขใหม่ 

 

“เขา (จีน) ไม่ได้แข็งกร้าว เขามีท่าทีรับพิจารณา แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าเป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ต้องมาคุยกันเรื่องราคา โดยเป็นเงินที่เราจ่ายไปแล้ว และเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย เขาไม่ได้ปิดแนวทางนี้” สุทินกล่าว

 

เมื่อถามว่า จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับจีนหรือไม่ สุทินกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ดูท่าทีแล้วน่าจะพูดแล้วเข้าใจกัน ต่างฝ่ายต่างเห็นใจกัน ไม่น่ากระทบความสัมพันธ์ เว้นแต่ว่าเราอยากได้หรือเอามากเกินไปก็อาจกระทบกระเทือนอยู่ 

 

เมื่อถามว่า การยกเลิกโครงการเรือดำน้ำกังวลในข้อกฎหมายที่จะมีการร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาหรือไม่ สุทินกล่าวว่า เมื่อตีความตามข้อกฎหมายแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นมติ ครม. สามารถทำได้ แต่มติ ครม. ก็ต้องยืนอยู่บนกฎหมายและผลประโยชน์ของประเทศ

 

ส่วนการจัดหาเรือฟริเกตจะเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อบรรจุในงบประมาณปี 2568 หรือไม่นั้น สุทินกล่าวว่า อยู่ที่นายกฯ พิจารณา กระทรวงกลาโหมไม่ขัดข้อง เป็นดุลพินิจนายกฯ เพราะเกี่ยวข้องกับตารางงบประมาณ ถ้ามีเรือฟริเกตและมีเรือดำน้ำจะจัดงบอย่างไรเพื่อไม่ให้งบพอกมากเกินไปในแต่ละปี อาจจะเรียกว่าเป็นเทคนิคการบริหารเงินว่าสิ่งใดก่อนหรือหลัง 

 

เมื่อถามถึงการเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ สุทินกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการไปดูเรือฟริเกตหรือเรือดำน้ำ แต่เป็นการเดินทางไปตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ การสานความสัมพันธ์ และไปดูเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พร้อมเยี่ยมกองกำลังสหประชาชาติที่มีกำลังพลจากทหารไทยไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ ในโอกาสนี้ทางกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ได้เชิญไปดูเครื่องบินรบ T-50 ที่ไทยจัดหาและรอส่งมอบอีก 2 เครื่อง และไปดูโครงการผลิตด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising