×

6 บทเรียน จาก 6 ธุรกิจ สร้าง ‘Sustainable Business’ อย่างไร? สร้างผลกำไรที่ดีไปพร้อมๆ กับดูแลโลก ชุมชน และคนที่เรารัก [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
24.12.2021
  • LOADING...
Sustainable Business

ช่วงปีที่ผ่านมา เทรนด์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Business ถูกพูดถึงในแทบทุกวงการ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างกำไร สร้างการเติบโตพร้อมกับแสดงความรับผิดชอบต่อโลกและสังคมก็มีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน วัดได้จากแนวโน้มการลงทุนที่เริ่มนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ด้านสถาบันการเงินก็สนใจให้เงินลงทุนกับธุรกิจที่มีแนวทางการดำเนินการที่ยั่งยืน

 

ประเด็นที่จะพูดคุยกันต่อจากนี้จึงไม่ใช่การตีความหมายหรือสร้างความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับ Sustainable Business อีกต่อไป แต่จะขยับไปที่การมองหาโมเดลและแนวทางการสร้างธุรกิจยั่งยืน เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจแบบไหนก็ผนวกพันธกิจ กลยุทธ์ และแผนการบริหารจัดการให้สอดคล้องไปกับแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ แถมยังมีตัวอย่างธุรกิจมากมายที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดขยะ ลดการใช้ทรัพยากร แค่ลดความเหลื่อมล้ำในองค์กร เพิ่มความเท่าเทียม เพิ่มทักษะความรู้ให้คนในองค์กร ก็เข้าข่าย Sustainable Business สร้างผลกำไรไปพร้อมกับใส่ใจผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่เสียสมดุล 

 

 

ธนาคารยูโอบี ธนาคารที่มุ่งมั่นสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าและชุมชนในภูมิภาคอาเซียน จับมือกับ THE STANDARD Podcast พาคุณไปรู้จักธุรกิจที่โดยธรรมชาติของตัวธุรกิจดูจะสวนทางกับวิถีรักษ์โลกอย่างมาก เช่น ธุรกิจของเล่นที่ทำจากไม้ ธุรกิจเสื้อผ้า ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจกระดาษ แต่พวกเขากลับสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้สำเร็จ ใน ‘Sustainable Guide’ ซีรีส์ใหม่จากพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB พอดแคสต์สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจสร้างธุรกิจที่ส่งต่อคุณค่าบางอย่างกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน

 

การทำธุรกิจที่ยั่งยืนสามารถทำได้ในมิติใดบ้าง ต้องเริ่มต้นอย่างไร แนวคิดแบบไหนจึงจะสร้างทั้งกำไรและให้คุณค่ากับสังคมในเวลาเดียวกัน เรียนรู้ไปพร้อมกันจากทั้ง 6 เอพิโสด 6 ธุรกิจ

 


PlanToys: ธุรกิจของเล่นที่สร้างความยั่งยืนในโลกผ่านไม้ยางพารา 


ใครจะเชื่อว่าแบรนด์ของเล่นที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก กลับมีส่วนช่วยลดการใช้ไม้และยืนกรานที่จะไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น! อาจจะฟังดูย้อนแย้งไปสักหน่อย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของการทำธุรกิจได้พิสูจน์แล้วว่า จะทำของเล่นจากไม้ไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว คุณเพียงแค่ต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ ขยายกรอบวิธีการมองวัสดุต้นทางแบบเดิมๆ ดังเช่นที่ PlanToys นำไม้ยางพาราไร้มูลค่ามาสร้างเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการของเด็ก ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา กลายเป็นที่สนใจของตลาดยุโรปและนักลงทุนต่างชาติจนติดอันดับแบรนด์ของเล่นไม้อันดับ Top 3 ของโลก 

 

หากมองให้ดี นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำไม้มารีไซเคิล แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่าผ่านการดีไซน์ที่แตกต่าง เน้นความเรียบง่าย และค่อยๆ หาทางแก้ไขปัญหาที่ยังหลงเหลือผลกระทบต่อโลกและผู้คนรอบตัว อย่างขี้เลื่อยจากการตัดเศษไม้ที่เคยสร้างปัญหาสุขภาพให้กับพนักงาน บริษัทก็ได้ติดตั้งระบบท่อดูดฝุ่นที่เครื่องจักรทุกตัว และกลายเป็นเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เลื่อยที่ได้ ด้วยการนำไปผสมกับผงสีออร์แกนิก ใส่กาวที่ไม่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์ แล้วอัดขึ้นรูปใหม่ เพิ่มมูลค่าจากขี้เลื่อยกิโลกรัมละ 1-2 บาท เป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาทได้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของเล่นไลน์ใหม่ในชื่อ PlanWood 

 

PlanToys ยังสร้างแนวคิดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมของเล่นด้วยการทำ Sustainable Play หรือการเล่นอย่างยั่งยืน โดยนำระบบ Unit System มาผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงการทำ Forest of Play สถานที่เล่นที่เป็นมิตรกับเด็ก และ Toy Library ธุรกิจให้เช่าของเล่น ดึงคอนเซปต์ Circular Economy มาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการรีไซเคิล แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าโปรดักต์ สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่อีกด้วย 

 

ยังมีแนวทางการดำเนินธุรกิจอีกมากมายที่ส่งผลให้ PlanToys ครองพื้นที่ตลาดต่างประเทศได้มากถึง 97% ฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ในตอน PlanToys จากไม้ยางพาราสู่ของเล่นระดับโลก ได้ทั้งกำไรและความยั่งยืน’

 

 

โรงแรมศิวาเทล: Green Hotel ต้นแบบธุรกิจ Sustainable Living ที่เชื่อว่าการทำงานร่วมกับชุมชน คือทางรอดร่วมของธุรกิจโรงแรมและสังคม 


ทุกคนรู้ดีว่าธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผลิตขยะจำนวนมาก เมื่อ 12 ปีที่แล้ว โรงแรมศิวาเทลจึงน่าจะเป็นโรงแรมแรกๆ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนำแนวคิด Sustainable Living มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตั้งแต่ก่อนที่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญเสียอีก


มาตรฐานการทำธุรกิจแบบ Sustainable Living ของโรงแรมศิวาเทล เริ่มตั้งแต่การวางระบบภายในโรงแรมให้ประหยัดพลังงาน เก็บสถิติการใช้พลังงาน วัดค่าน้ำเสีย คัดแยกขยะ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้กับลูกค้าและพนักงาน ไปจนถึงเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทั้งแชมพูและสบู่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ยกเลิกขวดน้ำพลาสติกเป็นขวดแก้ว ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นออร์แกนิกทั้งหมด สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยซื้อสินค้ากับเกษตรกรโดยตรง นอกจากจะส่งมอบอาหารที่ไม่มีสารเคมีให้กับผู้บริโภค ยังได้พิสูจน์อีกว่าออร์แกนิกไม่ได้หมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะพืชผักออร์แกนิกคงความสดใหม่ไว้ได้นานกว่า จึงเกิด Food Waste น้อย สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าอีกด้วย  

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการส่งมอบประสบการณ์ให้กับผู้ใช้บริการรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเกื้อหนุนผู้คน เกื้อหนุนชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ Green Hotel แห่งนี้ โดยยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน เชื่อว่าโมเดลที่โรงแรมศิวาเทลทำมาตลอด 12 ปี น่าจะช่วยให้โฮสเทล ผู้ประกอบการรายย่อย หรือธุรกิจบริการอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวนำไปปรับใช้ได้ ฟังบทสัมภาษณ์ตอน ‘ธุรกิจท่องเที่ยวควรปรับตัวอย่างไร เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน’

 

 

SC GRAND: เปลี่ยนเศษผ้าให้เป็นเสื้อผ้ามากมูลค่า ผ่านแนวคิด Circular Economy


กระแสการต่อต้านอุตสาหกรรม Fast Fashion ไปจนถึงภาพกองภูเขาขยะเสื้อผ้าในประเทศชิลี คงทำให้คนทำธุรกิจแฟชั่นนึกไม่ออกว่าธุรกิจที่มีส่วนในการเพิ่ม Waste จะหันไปเดินบนเส้นทางธุรกิจยั่งยืนได้อย่างไร 

 

SC GRAND แบรนด์เสื้อผ้ารีไซเคิลแห่งแรกของประเทศไทย ค้นพบแนวทางการเพิ่มมูลค่าขยะเศษผ้าตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว ก่อนจะสานต่อเจตนารมณ์เพิ่มมูลค่าเศษด้ายด้วยการเปิดโรงงานปั่นด้าย พร้อมบริหารธุรกิจภายใต้วิธีคิด Circular Fashion หรือการนำเสื้อผ้าเก่าและขยะจากโรงงานสิ่งทอกลับมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ เพื่อส่งจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นปัจจุบัน ต่อยอดเป็นผ้ารีไซเคิลของ SC GRAND และเสื้อผ้าแบรนด์ CIRCULAR 

 

SC GRAND นำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้กับแนวทาง Circular Fashion เริ่มตั้งแต่การซื้อเศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่า หรือเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เพื่อมาคัดแยกเฉดสี แล้วแปรสภาพเป็นเสื้อผ้าใหม่ออกสู่ตลาด ลูปของการย้อนกลับยังทำผ่านการตลาดในรูปแบบ CIRCULAR T-Shirt Club ให้ลูกค้านำเสื้อยืดเก่าแลกเป็นส่วนลด 100 บาท ซึ่งเสื้อยืดที่ได้มานั้นจะนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่ในคอลเล็กชันหน้า รวมไปถึงบริการ CIRCULAR OEM จับมือกับองค์กรที่มีการเปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่ทุกปีหรือมีเสื้อสำหรับงานอีเวนต์ สามารถนำเสื้อผ้าเหล่านั้นมารีไซเคิลเพื่อนำมาเป็นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ส่งคืนกลับไป 

 

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในธุรกิจแฟชั่น หรือเป็นผู้บริโภคที่อยากสนับสนุนแนวทาง Circular Economy เราอยากชวนมาฟังแนวคิดที่น่าสนใจในตอน ‘Circular Fashion ถอดแนวคิดแฟชั่นยั่งยืนจากเคสลงมือทำจริงของ SC GRAND’

 

 

Perfect Paper: โรงงานกระดาษเพื่อการรีไซเคิลที่อยากทำให้คนไทยรู้สึกดีทุกครั้งที่ใช้กระดาษ   

 

ย้อนกลับไป 40 ปีก่อน ในขณะที่เมืองไทยคุยกันเรื่องการรียูสกระดาษในองค์กร แต่ Perfect Paper กลับสนใจเรื่องการนำเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล โดยเศษกระดาษที่รับซื้อจากทั่วประเทศ ถูกนำมาคัดแยกประเภท อัดเป็นก้อน ส่งเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานรีไซเคิลกระดาษทุกชนิด เพื่อแปลงเป็นกระดาษทิชชู กระดาษกล่องต่างๆ 

 

แทนที่จะกังวลกับเทรนด์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตายจากไป Perfect Paper เชื่อมั่นว่าการใช้กระดาษจะยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น จากเดิมที่มีกระดาษจากเอกสารหรือสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ก็เปลี่ยนรูปแบบเป็นกระดาษจากแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโตของโลก E-Commerce โลกอนาคตจะพึ่งพากระดาษรีไซเคิลมากขึ้น เพราะกระดาษเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนนำกลับมาสร้างคุณค่าได้ไม่รู้จบ และยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมแบบโฟมหรือพลาสติก 

 

ทุกวันนี้ Perfect Paper มีการจัดระบบข้อมูลต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรคุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลการผลิตต่อวัน ยอดจำหน่าย เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาการทำงานด้านอื่นๆ เช่น ใช้ระบบ GPS กับรถบรรทุก ใช้ระบบการชั่งรถ และการควบคุมสต๊อก รวมถึงวางแผนการผลิตกระดาษให้แต่ละโรงงานที่ต้องการกระดาษรีไซเคิลต่างกัน ระบบทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุนจากการผลิตที่ไม่จำเป็นไปจนถึงลดการเกิดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ความตั้งใจทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจที่จะใช้กระดาษของ Perfect Paper เพราะเกิดขยะน้อย ราคาสมเหตุสมผล 

 

ถ้าคุณอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ช่วยให้การบริหารระบบงานต่างๆ ของ Perfect Paper เชื่อมโยงกันได้ และมีความเกี่ยวเนื่องอะไรกับโครงการ Smart Business Transformation ของธนาคารยูโอบี คลิกเพื่อฟังเนื้อหาทั้งหมดในตอน ‘ถอดบทเรียนโรงงานกระดาษเพื่อการรีไซเคิล Perfect Paper ธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนกว่า 40 ปี’    

 

 

Doctor A to Z: บริการทางการแพทย์ที่ใช้แอปรักษาโรคเฉพาะทางแบบออนไลน์ สร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม 

 

Doctor A to Z สตาร์ทอัพสาย Health Tech คือตัวอย่างของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในวงการแพทย์ ช่วยให้คนไข้ชาวไทยและต่างชาติสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้ธีม Save People’s Lives ตั้งแต่ Telemedicine หรือบริการแพทย์ทางไกล ครอบคลุมไปถึงการบริหารจัดการยา เชื่อมโยงการจ่ายยา และบริการจัดส่งเวชภัณฑ์   

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้พาร์ตเนอร์ต่างๆ ด้วยระบบ Clinic Management System หรือห้องพยาบาลออนไลน์สำหรับองค์กร รวมถึงระบบส่งต่อ (Referral System) ที่ต่อยอดมาจาก Medical Tourism เป็นการนำผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาทำการรักษาที่เมืองไทย 

 

ปัจจุบัน Doctor A to Z มีแพทย์เฉพาะทาง 22 สาขา กว่า 1,100 ท่าน ค่าใช้จ่ายในการปรึกษาอยู่ที่ 250-350 บาทต่อครั้ง เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้จากทุกพื้นที่ ทุกเชื้อชาติ และทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม เข้าข่ายการเป็นธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ด้วยความเชื่อที่ว่า หากอยากประสบความสำเร็จในระยะยาว ต้องสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายในระบบนิเวศ 

 

การสร้างประโยชน์ที่ว่าคืออะไร และเทรนด์การทำธุรกิจ Healthcare ในอนาคตจะเป็นอย่างไร สำหรับคนที่สนใจเรื่องนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจะมีช่องทางไหนให้เข้าร่วมวง ตามต่อได้ในตอน ‘Doctor A to Z-Health Tech ของไทย เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการรักษากับแพทย์อย่างทั่วถึง’   

 


Bangkok Solar Power: Renewable Energy โอกาสที่ทุกธุรกิจสามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วยพลังงานทางเลือก 


Bangkok Solar Power ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เจ้าแรกของไทย เดินหน้าส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังงานโซลาร์เซลล์คือพลังงานสะอาดที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้จริง แถมยังมาพร้อมด้วยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่ว่า ลงทุน 1 ครั้ง เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ 25 ปี 

 

Bangkok Solar Power ขยายฐานการผลิตพลังงานสะอาดจากไทยไปสู่ประเทศเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และอเมริกา เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงงานและห้างสรรพสินค้า เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น นโยบายภาครัฐให้การสนับสนุน และต้นทุนของเทคโนโลยีถูกลง หลายภาคส่วนจึงเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจ จำนวนคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า นี่เป็นธุรกิจที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในวงกว้าง เพราะปลายทางไม่ว่าบริษัทไหนจะขายได้มากน้อย โลกและผู้คนย่อมได้รับผลดีจากพลังงานสะอาดของธุรกิจนี้ 

 

ด้านสถาบันการเงินอย่างธนาคารยูโอบี ถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากธนาคารเป็นตัวกลางที่สร้าง Ecosystem เชื่อมต่อทุกภาคส่วนใน Value Chain ของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ และผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในประเทศไทย ผ่านโครงการ ยู-โซลาร์ (U-Solar) ที่ให้สินเชื่อสนับสนุนให้ธุรกิจมีเงินลงทุนเริ่มต้นในการใช้พลังงานหมุนเวียน ช่วยบริหารค่าใช้จ่ายตั้งต้น และบริหารความเสี่ยง ทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นเรื่องง่าย โดยมีพันธมิตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่าง Bangkok Solar Power ทำการตรวจสอบ ประเมิน และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงการให้การบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง 

 

ปัจจุบันธนาคารยูโอบียังนำเสนอโซลูชันทางการเงินแก่ผู้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งโซลูชันที่ว่าและการสนับสนุนเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขใดและส่งเสริมธุรกิจในมิติไหน ชวนฟังให้ครบทุกประเด็นต่อในตอน ‘Bangkok Solar Renewable Energy โอกาสเติบโตของธุรกิจหมุนเวียนพลังงาน’ 

    

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หลายธุรกิจคงมองเห็นความเป็นไปได้หากจะปรับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้เข้าใกล้การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เมื่อผู้บริโภคเองก็พร้อมสนับสนุนสินค้าและบริการที่แคร์พวกเขา แคร์โลก แคร์สังคม ด้านสถาบันการเงินเองก็พร้อมผลักดันให้ทุกธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยได้เติบโตเคียงข้างกัน

 

โอกาสรออยู่ตรงหน้า ที่เหลือก็ตาคุณแล้วว่าจะเริ่มลงมือได้แล้วหรือยัง   

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X