×

สุ่มสำรวจรายงานความยั่งยืน บจ.ไทย พบเพียง 3 รายที่แบนตัดไม้ทำลายป่าชัดเจน ไม่ติดเกณฑ์นำเข้า EU

24.02.2023
  • LOADING...
ความยั่งยืน

HIGHLIGHTS

6 min read
  • EU ถือเป็นกลุ่มที่มีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง CBAM และการนำเข้าสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าที่คาดว่าจะเริ่มมีผลกลางปี 2566 เป็นต้นไป จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องปรับตัว และพิสูจน์ตัวเองให้ชัดว่าห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจไม่มีการทำลายป่าที่ชัดเจน

 

  • ธุรกิจที่ผลิตสินค้า 7 ประเภท อันได้แก่ ยางพารา, น้ำมันปาล์ม, เนื้อวัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง ต้องรีบตระหนักและพิสูจน์ให้ชัดก่อนจะเสียโอกาสทางการแข่งขัน และอาจมีผลต่อการสูญเสียรายได้กับบริษัทอย่างยั่งยืน

 

  • ผลสุ่มสำรวจรายงานความยั่งยืน บจ.ไทย ยังมีรายงานเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าน้อย พบ 3 บริษัทขนาดใหญ่ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) (TVO), บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (UVAN) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ยกระดับแบนเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ในการประกอบธุรกิจชัดเจน 

เรื่องความยั่งยืนต้องยกให้กับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มใส่ใจและดำเนินการกับเรื่องนี้มานาน จนออกแผนการปฏิรูปสีเขียวว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อไม่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส และทำให้เริ่มเห็นมาตรการต่างๆ ที่จะมีผลบังคับใช้ที่ทำให้คู่ค้า EU ต้องมีการปรับตัวในด้านต่างๆ 

 

เข้มข้นกับมาตรการ ‘CBAM’ 

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่กำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU โดยรัฐสภายุโรปได้รับรองร่างกฎหมายนี้มาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2565 และมีการประเมินกันว่าสินค้า 5 กลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, ซีเมนต์, กระแสไฟฟ้า, ปุ๋ย และอะลูมิเนียม และในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM อีก ได้แก่ Refinery Products, Organic Chemicals, Hydrogen, Ammonia และ Plastic Polymers

 

และจากรายงาน SET Note ของฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า จากเกณฑ์ CBAM ในระยะแรกอาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท จึงเหมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมกับผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เตรียมตัวกับมาตรการสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า

จากนั้นก็มีข่าวว่าจะออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด EU ออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products) ซึ่งคาดว่าจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 และอาจทำให้หลายประเทศที่มีการส่งสินค้าไป EU ไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนเคย เพราะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ในห่วงโซ่ธุรกิจนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดไม้ทำลายป่ามาจำหน่ายใน EU 

 

ทั้งนี้ เพราะการตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในระหว่างปี 2533-2563 โลกต้องเสียพื้นที่ป่า 420 ล้านเฮกเตอร์จากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันเท่ากับโลกได้สูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวน 178 ล้านเฮกเตอร์ หรือในหนึ่งนาทีพื้นที่ป่าขนาดประมาณ 20 สนามฟุตบอลกำลังถูกทำลายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และแน่นอนการสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ 

 

นอกจากนั้น รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มีการวิเคราะห์ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อตอบสนองความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรม  

 

โดยสินค้าที่จะได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due Diligence) เสียก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งหากพบว่าสินค้าชนิดใดมีที่มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่า หรือเป็นเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สินค้าชนิดนั้นก็จะถือว่าผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้

 

7 สินค้าที่ต้องพิสูจน์ว่าไม่ทำลายป่า ก่อนนำเข้า EU

กลุ่มสินค้าที่ EU กำหนดว่าเข้าข่ายทำลายป่ามี 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา, น้ำมันปาล์ม, เนื้อวัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าประเภท เช่น ช็อกโกแลต, เฟอร์นิเจอร์, กระดาษ, ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น

 

หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการฝ่าฝืน จะมีมาตรการดำเนินการต่างๆ เช่น กำหนดค่าปรับตามสัดส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้อง ยึดสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือยึดรายได้ที่เกิดจากการค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2565 ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์เรื่องการส่งออกของไทยไปต่างประเทศขยายตัวสูงสุดของกลุ่ม EU อยู่ในอันดับที่ 6 รองจาก 1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2. สหราชอาณาจักร 3. ซาอุดีอาระเบีย 4. CLMV และ 5. สหรัฐอเมริกา 

 

ขณะที่ปี 2564 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไป EU มูลค่า 1,693.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกไทยไปโลก ส่งออกไม้มูลค่า 22.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยไปโลก และเฟอร์นิเจอร์มูลค่า 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกไทยไปโลก ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง โกโก้ และน้ำมันปาล์ม โดยไทยส่งออกไป EU น้อย มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของการส่งออกไปโลก

 

สิ่งที่บริษัทต้องทำ

ทั้งจากมาตรการ CBAM และการไม่มีห่วงโซ่อุปทานตัดไม้ทำลายป่า เท่ากับเป็นการกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ได้เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลงอยู่แล้ว และต้องให้ความสำคัญหรือมีนโยบายเพื่อตรวจสอบดูว่าห่วงโซ่อุปทานมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ โดยรวมอาจถือเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินการเพื่อหาว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่หากมองเชิงบวก การที่เริ่มต้นในวันนี้น่าจะเป็นการช่วยบริษัทให้มีการปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ไม่น้อย

 

สำรวจรายงานความยั่งยืนของ บจ. 

จากการสำรวจหนังสือรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประจำปี 2564 บางส่วน พบว่าการดำเนินธุรกิจของ บจ. ยังไม่ได้มีการระบุห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการซื้อวัตถุดิบที่มีความเกี่ยวข้องด้านการตัดไม้ทำลายป่าอย่างชัดเจน และโดยรวมอธิบายถึงการดำเนินงานและการปฏิบัติที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เน้นไปบริหารจัดการของเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตแล้วให้เกิดการหมุนเวียนในการใช้ให้มากที่สุด การนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดการใช้หมุนเวียนในการผลิต การใช้พลังงานสะอาดหรือหมุนเวียนมากกว่าใช้เชื้อเพลิงแบบเก่า เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ได้สุ่มสำรวจรายงานความยั่งยืนของ บจ. ตามประเภทลักษณะการประกอบธุรกิจ เช่น บริษัทเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ก็ยังไม่ได้มีการระบุเรื่องที่มาของแหล่งไม้หรือวัสดุที่นำมาใช้ว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบมี 3 บจ. ที่มีการระบุเนื้อหาเกี่ยวข้องว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดไม้ทำลายป่าชัดเจน คือ

 

  1. บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) (TVO) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง ตราองุ่น และวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยระบุที่มาของถั่วเหลืองว่ามาจากภายในประเทศ คือ สุโขทัย, กำแพงเพชร, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, ขอนแก่น และนำเข้าจากต่างประเทศจากแหล่งเพาะปลูกสำคัญของโลกคือ บราซิล สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา โดยปี 2564 ได้มีการปรับเอกสารการขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่ โดยเพิ่มประเด็นที่ทุกรายต้องผ่านระบบการประเมินตัวเองเพื่อประเมินเรื่อง ESG และเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

 

แต่จากสถานการณ์โควิด ทำให้บริษัทไม่สามารถเดินทางลงพื้นที่สำรวจแหล่งเพาะปลูกเมล็ดถั่วเหลืองยังประเทศผู้ผลิตที่เป็นต้นทางได้ ซึ่งปกติเป็นหนึ่งในขั้นตอนทวนสอบคู่ค้าในการส่งมอบวัตถุดิบ และยังเน้นการทำงานสื่อสารอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในกระบวนการประเมินความเสี่ยง ประเมินการคัดสรรคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบเพื่อให้มั่นใจตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุกทำลายป่า ไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน

 

  1. บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (UVAN) ธุรกิจทำสวนปาล์ม สกัดน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศ โดย UVAN กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า บริษัทมีนโยบายและข้อปฏิบัติชัดเจนว่า จะไม่มีการถางป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องด้วย 90% ของปริมาณผลปาล์มสดของบริษัทมาจากเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก โดยอาจมีบางรายที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรจากการปลูกพืชชนิดอื่น เช่น จากเดิมปลูกยางพาราเป็นปลูกปาล์มน้ำมันแทน 

 

  1. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร 3 ประเภท คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจเลี้ยงสัตว์-แปรรูป (Farm-Processing) และธุรกิจอาหาร (Food) ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูป ค้าปลีกอาหารและร้านอาหาร กำหนดแผนกลยุทธ์ ‘ซีพีเอฟ 2030 ปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน’ (CPF 2030 Sustainability in Action) คือ ‘อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่’ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่สังคม คืนสมดุลให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการผลิตอาหาร และมีเป้าหมายปี 2573 จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 200,000 ตัน จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ (กิจการประเทศไทย)

 

โดยหนึ่งในส่วนของแผนงานปฏิบัติเรื่องการกักเก็บคาร์บอน มีการกำหนดชัดเจนว่า CPF สนับสนุนการยุติการตัดไม้ทำลายป่า เพราะการตัดไม้ทำลายป่านอกจากจะทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังทำให้เกิดการทำลายคาร์บอนที่สะสมอยู่ในดิน CPF จึงประกาศเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 โดยครอบคลุมกิจการ CPF รวมถึงคู่ค้าซึ่งจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ CPF ได้แก่ ข้าวโพด, ปลาป่น, น้ำมันปาล์ม, ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง รวมทั้งพร้อมจะฟื้นฟูป่าและปลูกต้นไม้ อนุรักษ์ และปกป้อง (ป่าบกและป่าชายเลน) รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่สถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม 200,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ (3,200 เฮกตาร์) ภายในปี 2573

 

แนวโน้ม บจ. เริ่มแจงห่วงโซ่อุปทานตัดไม้ทำลายป่าเพิ่ม

จากความเข้มข้นของมาตรการ EU ที่มีมาตรการเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการปลอดสินค้าที่มีส่วนทำลายป่าจะเริ่มบังคับใช้กลางปีนี้ จึงคาดว่าปีนี้ จะเริ่มเห็น บจ. ให้ความสำคัญในการไปสำรวจและตรวจสอบห่วงโซ่ธุรกิจภายในบริษัทในประเด็นตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องนี้ในรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 เป็นต้นไป โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องทำมาค้าขายหรือส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม EU อีกทั้งควรมีการติดตามความคืบหน้าในกฎเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเข้ามา ซึ่งบริษัทต้องเรียนรู้และพร้อมปรับเปลี่ยน เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงจากกฎเกณฑ์ที่จะออกมาเกี่ยวข้องกับ ESG มากขึ้น 

 

แม้จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG จะมีอยู่เรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่าอะไรที่เป็นความเสี่ยง ก็สามารถสร้างโอกาสที่มากขึ้นให้กับบริษัทได้เช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X