องค์การสหประชาขาติ หรือ UN แนะนำให้ประเทศพัฒนาแล้วจัดเก็บภาษีพิเศษเพิ่มเติมจากกำไรธุรกิจน้ำมัน เพื่อนำเงินจำนวนนั้นมาให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวเสนอความเห็นแนะให้บรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจัดตั้งภาษีพิเศษที่เรียกเก็บเพิ่มเติมจากผลกำไรของเหล่าบริษัทน้ำมัน ก่อนนำเงินที่ได้ไปให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือส่งไปให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่ประสบวิกฤตค่าครองชีพ
ช่าวที่เกี่ยวข้อง
- อีวอง ชูนาร์ด ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้กับ ‘ภาวะโลกร้อน’
- บิล เกตส์ เตรียมสละตำแหน่งมหาเศรษฐีโลก ด้วยการบริจาคทรัพย์สินราว 2 แสนล้านดอลลาร์ให้การกุศล คืนประโยชน์สู่สังคม
- SCBX Group ชู 4 ยุทธศาสตร์ มุ่งสู่การเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน Net Zero ภายในปี 2050
ความเห็นของเลขาธิการ UN มีขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาในนครนิวยอร์ก โดยเจ้าตัวได้เปรียบอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลว่าเป็นบริษัทที่เขมือบเงินหลายแสนล้านดอลลาร์จากงบอุดหนุนและผลกำไรมหาศาล ในขณะที่เงินของครัวเรือนทั้งหลายกลับลดลง และโลกกำลังถูกเผาทำลาย
กูร์เตอร์เรสกล่าวว่า บรรดาบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมด้วยกลุ่มผู้อำนวยความสะดวกทั้งหลาย เช่น ธนาคาร, Private Equity, ผู้จัดการสินทรัพย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับพิจารณาให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยการเดินหน้าลงทุนเกี่ยวกับการจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอน
นอกจากนี้ การพิจารณาดังกล่าวต้องรวมถึงบรรดาบริษัทประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับเงินว่าจ้างหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากการตกเป็นตัวร้ายของสังคม
ขณะเดียวกัน แม้จะเข้าใจดีว่าไม่อาจปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่กูร์เตอร์เรสก็ย้ำว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่จะเตือนให้ผู้ผลิต นักลงทุน และผู้ที่คอยอำนวยความสะดวก ตระหนักถึงผลกระทบจากน้ำมัน และไม่ทิ้งใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งไว้เบื้องหลัง
“ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย และวันนี้ผมกำลังเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดเก็บภาษีกำไรจากบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล” กูร์เตอร์เรสกล่าว ก่อนเสริมว่าเงินที่ได้จากการเก็บภาษีนี้ควรถูกนำไปให้ประเทศที่ประสบความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และมอบให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น
ความเห็นและข้อเสนอแนะของเลขาธิการ UN เป็นอีกหนึ่งการตอกย้ำท่าทีของเจ้าตัวที่ยืนกรานมาตลอดว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสามารถทำกำไรได้มหาศาลจากวิกฤตราคาพลังงานในครั้งนี้ เพราะขูดรีดจากคนและชุมชนที่ยากจนที่สุด ยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งลำพังแค่ไตรมาสแรกไตรมาสเดียวของปีนี้ ผลกำไรของบรรดาบริษัทน้ำมันรายใหญ่มีมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ แนวทางการใช้กฎระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมาย รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากกำไรมหาศาลของน้ำมันของเลขาธิการ UN ได้รับการตอบรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป โดยย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีคลังอังกฤษในเวลานั้นอย่าง ริชิ ซูนัค ได้ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘การจัดเก็บกำไรด้านพลังงานแบบมุ่งเป้าหมายชั่วคราว’ สำหรับบริษัทน้ำมันและก๊าซ
ขณะที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอเพดานราคาขั้นต่ำที่จะช่วยจำกัดรายได้ของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ กระนั้น เดอร์ เลเยน ย้ำว่าตนเองไม่ได้ต่อต้านระบบตลาดที่ทำกำไร เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เศรษฐกิจโต แต่ในช่วงเวลานี้การรับรายได้และผลกำไรที่ไม่ปกติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด
อ้างอิง: