×

รู้จัก Surprise Day Off นโยบายหยุดงานกะทันหันเพื่อลดความเครียดของพนักงาน

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2021
  • LOADING...
Surprise Day Off

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่ที่กินเวลานานกว่าหนึ่งปี นโยบายการเพิ่มวันหยุดกะทันหัน หรือ Surprise Day Off ถือเป็นแนวทางใหม่ที่สนับสนุนสุขภาพจิตและอารมณ์ของพนักงาน โดยส่วนมากก็อ้าแขนรับข้อเสนอนี้อย่างเต็มใจ โดยบริษัทจำเป็นต้องสำรวจและสังเกตสุขภาพจิตของพนักงานอยู่เรื่อยๆ ผ่านแบบสอบถาม
  • อย่างไรก็ตาม ลักษณะงานบางอย่างไม่สามารถหยุดได้ชั่วคราวหรือหยุดโดยปราศจากการวางแผนล่วงหน้า ในทำนองเดียวกัน พนักงานที่มีการประชุมกับลูกค้าหรือการขายที่ต้องรอดำเนินการบางอย่าง จะพบว่าวันหยุดแบบกะทันหันอาจทำให้เกิดงานกองพะเนินเทินทึกมากกว่าเดิมและชวนให้วิตกกังวลยิ่งขึ้นไปอีก
  • แม้นโยบาย Surprise Day Off จะยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการหาความสมดุลให้กับพนักงาน เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้เวลาในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากงานบ้าง และกลับมาทำงานด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์มากขึ้น

โรคระบาดใหญ่ทำให้พนักงานเหนื่อยล้าจากการทำงานที่มากเกินไป บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจึงได้เพิ่มวันหยุดพิเศษแบบกะทันหันเข้าไปในปฏิทิน แต่นโยบายที่ว่านี้จะเวิร์กจริงหรือไม่?

 

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจจำนวนมากทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีนโยบายในลักษณะเดียวกัน โดยให้ ‘วันดูแลตัวเอง’ หรือ Self-Care Days ให้กับพนักงาน ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการลาหยุดตามปกติ แปลว่าพวกเขาจะยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนเหมือนเดิม

 

ในเดือนเมษายน แพลตฟอร์มหางาน LinkedIn ได้ปิดตัวลงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานเกือบ 16,000 คนทั่วโลก ได้พักเป็นเวลา 5 วัน ในขณะที่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา บริษัท Google ได้เพิ่มวันหยุดแก่พนักงานอย่างกะทันหันถึง 2 ครั้ง ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซีอีโอของแอปพลิเคชัน Dosh ให้สิทธิ์วันหยุดกะทันหันระหว่างประชุมพนักงาน โดยเรียกว่าวัน Dosh Day หรือวันที่ไม่อนุญาตให้ทำงานนั่นเอง หรือเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เอเจนซี Ogilvy มีนโยบาย Do Nothing Monday ซึ่งประกาศล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เพื่อให้พนักงานเคลียร์งานบนโต๊ะ แจ้งลูกค้า และไม่ต้องรับสายใดๆ ในวันนั้น

 

เช่นเดียวกับบริษัทเกี่ยวกับข้อมูลทางการแพทย์ รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศเพิ่มวันหยุดยาว 2 ครั้งในปฏิทิน โดย เจมส์ เทอร์บีวิลล์ (James Turbyville) หนึ่งในพนักงานกล่าวว่า ฝ่ายบริหารมักจะส่งแบบสำรวจเพื่อติดตามความเป็นอยู่ของพนักงาน หลังจากประเมินคำตอบแล้ว พวกเขาก็บอกว่า “คุณรู้มั้ย? นี่เป็นปีที่ยากลำบากมากจริงๆ เราต้องแน่ใจว่าเราไม่ได้กดดันทีมของเรามากเกินไป เรามาให้ ‘วันแห่งสุขภาพที่ดี’ แก่พวกเขาเพิ่มอีกสักสองสามวันเถอะ” จากนั้นบริษัทก็ได้เลือกให้หยุดในวันศุกร์ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นวันหยุดสำหรับพนักงานทั้งหมด

 

ดูแลพนักงานด้วยการเพิ่มวันหยุด

ท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่ที่กินเวลานานกว่าหนึ่งปี นโยบายการเพิ่มวันหยุดกะทันหัน หรือ Surprise Day Off ถือเป็นแนวทางใหม่ที่สนับสนุนสุขภาพจิตและอารมณ์ของพนักงาน โดยส่วนมากก็อ้าแขนรับข้อเสนอนี้อย่างเต็มใจ โดยบริษัทจำเป็นต้องสำรวจและสังเกตสุขภาพจิตของพนักงานอยู่เรื่อยๆ ผ่านแบบสอบถาม

 

ลิซ่า ฟินเนแกน (Lisa Finnegan) รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลระหว่างประเทศของ LinkedIn กล่าวว่า ไม่นานหลังจากที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ บริษัทเริ่มส่งแบบสำรวจรายไตรมาสให้กับพนักงาน โดยมีคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขารับมือกับสถานการณ์ ทำให้เห็นว่าความเป็นอยู่พื้นฐานของพวกเขามีแนวโน้มลดลง ผู้คนทำงานกันนานขึ้น ไม่ได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดยาว แม้เราจะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิผล แต่ตอนนี้พนักงานของเรากำลังจะหมดไฟ

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทก่อตั้งแคมเปญที่เรียกว่า ‘ช่วงเวลาที่น่าประหลาดใจและน่ายินดี’ ซึ่งพวกเขามักจะทำให้พนักงานรู้สึกเซอร์ไพรส์อยู่บ่อยครั้งด้วยการให้หยุดงานในวันศุกร์หรือวันที่ไม่ต้องมีประชุม ซึ่งผลตอบรับเป็นไปในทางบวก ส่วนผลจากการตอบแบบสำรวจเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้บริษัทวางแผนปิดตัวตลอดทั้งสัปดาห์

 

“องค์ประกอบของการสร้างความประหลาดใจอาจมีคุณค่าต่อคนทำงาน เพราะพวกเขาไม่คาดคิดว่าบริษัทจะทำแบบนี้ จึงเป็นนัยว่าบริษัทมีความใส่ใจต่อพนักงานจริงๆ เป็นสัญญาณที่บอกว่าบริษัทกำลังตอบสนองความต้องการบางอย่างและเป็นตัวบ่งชี้ถึงการดูแลพนักงานด้วย” เจมี กรูแมน (Jamie Gruman) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสถานที่ทำงานกล่าว

 

นอกจากการให้เวลาพักในระยะเวลาสั้นๆ แล้ว ดูเหมือนนโยบายนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อสุขภาพระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย อย่างน้อยๆ ก็ในแง่ของการรักษาสวัสดิภาพของพนักงาน กรูแมนเสริมว่า วันหยุดแบบกะทันหันเหล่านี้อาจเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่บรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากการทำงานจะยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงวัฒนธรรมของบริษัทที่มองว่าช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ติดโต๊ะทำงานก็มีความสำคัญพอๆ กัน

 

“ในยุคหลังโรคระบาด สิ่งที่พนักงานต้องการก็คือการดูแล ไม่ใช่แค่ในฐานะพนักงานแต่ในฐานะมนุษย์ด้วย พวกเขาต้องการให้นายจ้างเป็นห่วงอย่างแท้จริง ยุคแห่งการให้ค่าเพียงแค่ประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตได้สิ้นสุดลงแล้วเรียบร้อย”

 

ผลลัพธ์ที่อาจตรงกันข้าม

แม้วันหยุดแบบกะทันหันจะมีประโยชน์ แต่การที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เปลี่ยนไปอีกทางโดยไม่คาดคิด อาทิ บริษัทของเทอร์บีวิลล์ที่ได้กล่าวไป มีการประกาศ ‘วันแห่งสุขภาพที่ดี’ ไว้ล่วงหน้า แต่บริษัทหลายแห่งไม่ได้แจ้ง ซึ่งทำให้วันหยุดแบบกะทันหันเพื่อลดความเครียดให้กับพนักงานอาจทำงานตรงกันข้ามกับที่คิดไว้

 

“สำหรับผู้ที่มีตารางงานที่ยุ่งมากๆ อาทิ คนที่เป็นผู้ปกครอง วันหยุดอาจกลายเป็นอุปสรรคได้และทำให้พวกเขาเกิดความเครียดเกินที่ควรจะเป็น เนื่องจากการประกาศแบบกระชั้นชิดทำให้พวกเขาต้องแย่งชิงผลประโยชน์จากวันหยุดที่หาได้ยาก การเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศหยุดงานจึงเหมาะสำหรับคนโสดและคนที่มีไลฟ์สไตล์ทั่วๆ ไปมากกว่า ดังนั้นแม้ว่าวันหยุดจะได้รับการยินยอมโดยทั่วไป แต่วิธีการที่บริษัทบางแห่งปรับใช้นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดประโยชน์แก่พนักงานในลักษณะเดียวกันก็ได้” ซาแมนธา เอตตัส (Samantha Ettus) ผู้เขียนคู่มือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เรื่อง The Pie Life: A Guilt-Free Recipe For Success and Satisfaction กล่าว

 

นอกจากนี้ พนักงานไม่จำเป็นต้องพักงานแบบเร่งด่วนขนาดนั้น เพราะลักษณะงานบางอย่างไม่สามารถหยุดได้ชั่วคราวหรือหยุดโดยปราศจากการวางแผนล่วงหน้า ในทำนองเดียวกัน พนักงานที่มีการประชุมกับลูกค้าหรือการขายที่ต้องรอดำเนินการบางอย่าง จะพบว่าวันหยุดแบบกะทันหันอาจทำให้เกิดงานกองพะเนินเทินทึกมากกว่าเดิมและชวนให้วิตกกังวลยิ่งขึ้นไปอีก

 

สอดคล้องกับที่ฟินเนแกนกล่าวว่า พวกเขาได้รับคำเตือนเล็กน้อยจากพนักงานในบริษัท โดยพื้นฐานแล้วพวกเขาอยากให้มีการแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้าก่อน เพื่อที่จะได้วางแผนใช้เวลานั้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการหยุดงานแบบใดก็ตาม มีความจำเป็นอย่างมากต่อภาพรวม เนื่องจากการทำงานเป็นระยะเวลานานกว่าปกติในช่วงโรคระบาดใหญ่นี้ พนักงานจำนวนมากกลัวที่จะลางานและปล่อยให้วันหยุดพักร้อนผ่านพ้นไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากพวกเขากลัวว่าจะถูกเลิกจ้างในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำเช่นนี้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข

 

“พนักงานที่หมดแรงก็เหมือนไอโฟนที่หมดไฟ หากไม่ได้รับการชาร์จแบตเตอรี่พวกเขาก็ทำงานไม่ได้ เราจึงจำเป็นจะต้องหลีกหนีจากสิ่งที่ทำให้เราเครียด เพื่อที่จะได้ฟื้นฟู เติมพลัง และกลับมาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” กรูแมนเสริม ซึ่งเขาเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Boost: The Science of Recharging Yourself in an Age of Unrelenting Demands ด้วย

 

แม้นโยบาย Surprise Day Off จะยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการหาความสมดุลให้กับพนักงาน เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้เวลาในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากงานบ้าง และกลับมาทำงานด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ บริษัทต้องแสดงความจริงใจต่อพนักงานของพวกเขาจริงๆ ไม่เช่นนั้นการเพิ่มวันหยุดนี้อาจถูกบิดเบือนความหมายหรือคิดว่าบริษัทต้องการบีบคั้นอะไรบางอย่างจากพนักงานได้

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X