‘สุรเกียรติ์’ แนะไทย-สหรัฐฯ ควรร่วมมือ 4 ด้าน และตั้ง ‘เวทีเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ระยะ 10 ปี’ ด้าน พิชัย รมว.คลัง ชี้ ไทยติด 1 ใน 25 ประเทศ ‘ตลาดเกิดใหม่’ น่าลงทุน ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ยังแน่นแฟ้น รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือเจรจาภาษี ลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
วันที่ 20 พ.ค. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงาน Thailand-U.S. Trade & Investment Summit 2025: Building on a Longstanding Partnership โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยนั้นยาวนาน และสหรัฐฯ มีพื้นฐานจากค่านิยมร่วมและความเคารพซึ่งกันและกัน
“ยุคที่โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ไทยในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์สามารถมีบทบาทเป็น ‘ผู้เชื่อมโยง’ และ ‘ผู้สร้างเสถียรภาพ’ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน”
ดร.สุรเกียรติ์มองว่า ไทย-สหรัฐฯ ควรวางแนวทางและขยายความร่วมมือด้านการค้า 4 ด้านหลัก คือ
- พลังงานสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
“แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น EV, Smart Grid และเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด เรายินดีต้อนรับสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะ ‘นักลงทุน’ แต่ในฐานะ ‘หุ้นส่วน’ ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรม และโมเดลธุรกิจยั่งยืน”
- ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารและบริการสุขภาพรายใหญ่
“เรามีศักยภาพในด้านเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงไบโอเทค ขณะที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญด้าน R\D นวัตกรรม และเงินทุน ลองจินตนาการถึงโลกที่ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโภชนาการ สุขภาพ และการดูแลของเอเชีย โดยร่วมพัฒนากับสหรัฐฯ ทั้งเรื่องมาตรฐานและวิทยาศาสตร์”
- การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและ AI ความสามารถในการแข่งขันในอนาคตอยู่ที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยกำลังผลักดันนโยบายด้าน AI ในภาคการเงิน อุตสาหกรรม ระบบงาน ไปจนถึงจริยธรรม ความปลอดภัยไซเบอร์ และการค้าดิจิทัล แต่เราจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ หากไม่มี ‘ความร่วมมือระดับโลก’ และ ‘ภาวะผู้นำที่รับผิดชอบ’ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำในเรื่องนี้
- การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการศึกษา ความสัมพันธ์ของเราควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘คน’ ไม่ใช่แค่ ‘การค้า’ ประเทศไทยยินดีขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และโครงการผู้นำของสหรัฐฯ
“เราต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทสหรัฐฯ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งผมเป็นประธานสภา ร่วมมือกับ MIT ในโครงการ Chula-MIT LGO (Leaders for Global Operations) ให้เรียนต่อระดับปริญญาโทที่วิศวกรรมศาสตร์และ CBS และต่อเนื่องที่ MIT เตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับโลกยุคใหม่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์…
- เปิดรายชื่อประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสูงสุด และ 8 อันดับชาติอาเซียน…
- หอการค้าขนทัพ CP-SCG-ปตท.-ไทยซัมมิท-บ้านปู บุกตลาดสหรัฐฯ…
- เจาะเบื้องหลัง ทำไมสหรัฐฯ ล้มโต๊ะเจรจาไทย ศึกภาษีทรัมป์จะไปจบที่ตรงไหน?
เสนอจัดตั้งความร่วมมือเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ระยะ 10 ปี
ทั้งนี้ ดร.สุรเกียรติ์ เสนอให้จัดตั้ง ‘เวทีเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ’ สำหรับระยะ 10 ปี ที่เน้นความยืดหยุ่น นวัตกรรม ความทั่วถึง ความไว้วางใจ และการเชื่อมโยงทางด้านนโยบายเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วน “จากเชิงประวัติศาสตร์สู่อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์”
โดยไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งภูมิภาคมีประชากร 660 ล้านคน มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็ว และชนชั้นกลางที่ขยายตัว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และยังคงเป็นหนึ่งใน ‘จุดเริ่มต้นที่น่าเชื่อถือ’ สำหรับการเข้าสู่ตลาดภูมิภาค สำหรับภาคธุรกิจสหรัฐฯ จุดแข็งของไทยไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ภูมิศาสตร์’ แต่คือความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
“ไม่ว่าจะในเวทีการทูตหรือธุรกิจ ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มันถูกสร้างขึ้นจากเวลา ความเคารพซึ่งกันและกัน และการพูดคุยที่จริงใจ ผมเชื่อว่าเราต้องลงทุนกับคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและอเมริกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเรายืนหยัด” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ไทยยินดี ‘ลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์’
ด้าน พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ แข็งแกร่งนับตั้งแต่สนธิสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่ปี 1966 หรือกว่า 50-60 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะภาคพลังงานของสหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
“หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานในประเทศได้ถึง 100% แต่ในปัจจุบันความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดลงเหลือเพียง 40% เท่านั้น อีก 60% เราจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้า”
สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใหม่ในด้านการพัฒนาและการลงทุน ซึ่งสหรัฐฯ มีพื้นที่พลังงานอีกหลายแห่งในฝั่งตะวันตกและตอนใต้ โดยเฉพาะในทะเลลึก ที่ในอดีตอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการสำรวจหรือพัฒนา แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากพอๆ กับพื้นที่อ่าวไทย
ทั้งนี้ ไทยยินดีลดดุลการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์ เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นและลดภาษีสินค้าบางประเภทลง โดยมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบ Win-Win ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอไปอย่างละเอียด และพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจา
ชี้ไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด 25 อันดับแรกของโลก
พิชัยกล่าวอีกว่า ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 9-10 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดใน 25 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีและโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม จากดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Confidence Index 2025) โดยบริษัท Kearney จากแบบสำรวจเดียวกัน ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำหรับความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ ถือเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ซึ่งปัจจุบันการลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมมากกว่า 20 อุตสาหกรรม
วันนี้จึงเป็นโอกาสการลงทุนแบบสองทาง (Two-way Investment) ไทยจะเปิดโอกาสในอีกหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน พร้อมขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในหลากหลายสาขาหลัก เช่น ด้านดิจิทัล ที่บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Amazon Web Services, Google และ Microsoft ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว
ขณะที่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แน่นแฟ้นยาวนานถึง 192 ปี ท่ามกลางสงครามการค้าหอการค้าไทย-สหรัฐฯ พร้อมรับความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจโลก พร้อมเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สมดุล