×

ดร.สุรชาติมองโลกปี 2023 กับ 5 โจทย์ใหญ่ท้าทายในปี 2024

27.12.2023
  • LOADING...
สุรชาติ บำรุงสุข

ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา โลกเต็มไปด้วยความผันผวน สงครามและความขัดแย้งยังคงปะทุขึ้นต่อเนื่อง สร้างแรงกระเพื่อมให้กับชีวิตผู้คนทั่วโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ขณะที่ “โลกในปี 2024 วิกฤตโลกไม่จบ โลกผันผวนไม่หยุด ประเทศใหญ่เหนื่อย ประเทศเล็กเปราะบาง”

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นให้ความเห็นกับ THE STANDARD ด้วยประโยคข้างต้น ก่อนที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับบทสรุปโลกปี 2023 กับ 5 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและรอพวกเราทุกคนอยู่ในปี 2024

 

ดร.สุรชาติ ชี้ว่า โลกปี 2023 ไปจนถึงโลกปี 2024 เราจะเห็นโจทย์ใหญ่ 5 โจทย์ ดังนี้

 

ภาพ: Serhii Mykhalchuk / Global Images Ukraine via Getty Images

 

1. สงครามและการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่

 

โจทย์นี้ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญที่สุด โดย ดร.สุรชาติ มองว่า โจทย์แรกนี้มี 6 โจทย์ย่อย

 

1.1 สงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ปี 2023 การสู้รบกันระหว่างกองทัพรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขอบเขตความเสียหายและการสูญเสียยังคงเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ขณะนี้กองทัพยูเครนเริ่มขาดแคลนกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบ ขณะที่รัสเซียเองก็เริ่มต้องพึ่งพากระสุนจากเกาหลีเหนือ

 

ในปี 2024 เราจะเห็นสงครามนี้ครบรอบ 2 ปีเต็ม และก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงคราม คำถามคือโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังสนับสนุนยูเครนในการรบมากน้อยเพียงใด โอกาสเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือแนวโน้มที่สงครามอาจไม่ถึงจุดที่ยุติ 100% แต่ถึงจุดที่ต้องเจรจาและหาทางออกจริงๆ พอจะเป็นไปได้หรือไม่

 

1.2 สงครามอิสราเอล-ฮามาสในกาซา

 

วันนี้ต้องยอมรับว่าในทางการทหาร อิสราเอลประสบความสำเร็จไม่น้อย หลังจากถูกกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 โดยอิสราเอลเปิดสงครามเข้าไปในกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศค่อนข้างหนัก ผลที่ตามมาคือความสูญเสียของชีวิตประชาชนและอาคารบ้านเรือนที่พังเสียหายเป็นวงกว้าง โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ชี้ว่า กาซาเป็นเหมือนสุสานของเด็กๆ ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กอาจสูงถึงราว 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะสูงกว่า 20,000 คนก่อนสิ้นปี 2023

 

ดร.สุรชาติ ระบุว่า ในปี 2024 เราอาจเห็นอิสราเอลค้นพบอุโมงค์ฮามาสได้เพิ่มขึ้น จับสมาชิกฮามาสได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะสามารถชนะสงครามได้ทั้งหมด ปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซาคงยังไม่จบลง ปัญหาในเวสต์แบงก์ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับอื่นๆ ในปี 2024 จะเป็นไปในทิศทางไหน ข้อเสนอเรื่อง Two States Solution หรือการสร้างรัฐสองรัฐ ระหว่างรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติจะเป็นหัวข้อสำคัญและถูกนำเอามาปัดฝุ่นใหม่ แม้จะมีข้อโต้แย้งจากบางตัวแสดงอยู่บ้างก็ตาม รวมถึงประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูกาซาก็จะได้รับความสนใจไม่น้อย

 

1.3 ผลสืบเนื่องจากสองสงครามใหญ่

 

ผลสืบเนื่องจากสงครามสองชุดนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ โดยผลสืบเนื่องจากสงครามยูเครน เราจะเห็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงวิกฤตอาหาร เนื่องจากยูเครนและรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืช โจทย์นี้ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญ ส่วนผลสืบเนื่องจากสงครามในกาซาจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าคลื่นลูกใหม่ของการก่อการร้าย หลังวันที่ 7 ตุลาคมหรือไม่ ถ้าคลื่นลูกนี้เกิดขึ้นก็จะเข้ามาทดแทนคลื่นลูกก่อนอย่างกระแสคลื่นรัฐอิสลาม (IS) ที่ดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง ไม่แน่ว่าปี 2024 เราอาจเห็นแนวโน้มของเหตุก่อการร้ายที่เพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากปัญหาสงครามชุดใหญ่แล้ว ยังมีสิ่งที่ ดร.สุรชาติ เรียกว่า ‘สงครามในรัฐชายขอบ’ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในซูดาน, อัฟกานิสถาน, ซูดานใต้, มาลี และเมียนมา โดยเฉพาะสงครามในเมียนมาเป็นประเด็นที่ต้องตามดู ถ้าสงครามยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลทหารของเมียนมาจะสามารถแบกรับสถานการณ์สงครามชุดนี้ได้ดีเพียงใด และถ้าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาได้เตรียมความพร้อมไว้บ้างแล้วหรือไม่

 

1.4 วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน

 

ดร.สุรชาติ ระบุว่า ประเด็นไต้หวันเป็นเครื่องหมายคำถามมาโดยตลอดตั้งแต่กลางปี 2022 หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการในรอบ 30 กว่าปี สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก โดยในปี 2024 หลายฝ่ายมีความกังวลว่าวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันจะกลายเป็นสงครามใหญ่ โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์กลัวที่สุดคือการได้เห็น 3 สงครามใหญ่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นปี 2024 ช่องแคบไต้หวันยังคงเป็นหัวข้อที่ต้องจับตาดู

 

1.5 การพัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

 

ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือกลับมาเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากปิดประเทศเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด คำถามสำคัญคือวิกฤตอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ปี 2024 สถานการณ์จะยังคงทรงตัวต่อไปเช่นนี้ หรือจะคลี่คลายไปอย่างไร โดย ดร.สุรชาติ เชื่อว่า ปัจจุบันเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการสร้างขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แล้ว ขีปนาวุธเกาหลีเหนือล่าสุดมีตัวเลขของพิสัยยิงอยู่ที่ประมาณ 15,000 กิโลเมตร แปลว่าเป้าหมายในสหรัฐฯ ทั้งหมดอยู่ภายใต้ขีดความสามารถในการยิงของหัวรบนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

 

1.6 การขยายตัวของสงครามเย็นใหม่

 

ผลพวงจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ นำไปสู่การกำเนิดของสงครามเย็น ดร.สุรชาติ คาดการณ์ว่า สิ่งที่จะตามมาในปี 2024 เราจะเห็นสงครามเย็นในภูมิภาคต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่แข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นการขยายตัวของสงครามเย็นในปี 2024 อาจจะปรากฏตัวชัดขึ้น ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงในลาตินอเมริกา เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องจับตามอง

 

ภาพ: Carsten Reisinger / Shutterstock

 

2. ความผันผวนของการเมืองภายในที่มาจาก ‘การเลือกตั้ง’

 

ดร.สุรชาติ ชี้ว่า ถ้ามองผ่านปี 2024 คงต้องใช้ว่าเป็น ‘The Year of Super Elections’ เพราะว่ามีการเลือกตั้งขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ถ้าเราลองเรียงกันเฉพาะหน้า เราจะเห็นการเลือกตั้งสำคัญดังนี้

 

มกราคม: ไต้หวัน – หลายฝ่ายเฝ้าจับตาดูว่าพรรคที่สนับสนุนจีนหรือเป็นพรรคชาตินิยมที่ยืนอยู่กับความเป็นไต้หวัน พรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งไต้หวันจะมีนัยสำคัญกับวิกฤตการณ์ข้ามช่องแคบ

 

กุมภาพันธ์: (อินโดนีเซีย / เบลารุส)

 

มีนาคม: รัสเซีย ยูเครน – การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียคงคาดเดาได้ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน คงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ในยูเครนแม้จะยังไม่มีความแน่ชัด แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี น่าจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดียูเครนต่อไป

 

เมษายน-พฤษภาคม: อินเดีย – การเลือกตั้งรอบนี้ นเรนทรา โมดี คงคว้าชัยชนะและนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอินเดียต่ออีกสมัย ไม่ต่างจากปูตินและเซเลนสกี เพราะพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ไม่มีแรงพอที่จะทัดทานกระแสการเมืองของโมดีได้ ชัยชนะของโมดีจะยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมพราหมณ์ฮินดูมีเพิ่มสูงขึ้น

 

ดร.สุรชาติ อธิบายว่า โมดีเป็นตัวอย่างของ ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Right-Wing Populism) ที่ผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดูกับลัทธิชาตินิยม และการต่อต้านมุสลิมภายในอินเดีย ผนวกด้วยความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านอวกาศ ทุกวันนี้คนแทบไม่รู้สึกว่า โดนัลด์ ทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง หรือแม้แต่โมดีเป็นประชานิยม เพราะการเมืองตะวันตก รวมถึงการเมืองในรัสเซีย จีน และอินเดีย ประชานิยมของพวกเขาขับเคลื่อนทางนโยบายและถูกคิดในกรอบนโยบายขนาดใหญ่ เราจึงไม่เห็นคนกลุ่มนี้แจกเงินให้กับประชาชน

 

ในขณะที่ประชานิยมไทยเป็น ‘ประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม’ เป็นการเมืองชุดเก่า ซึ่ง ดร.สุรชาติ เรียกว่าเป็น ‘ประชานิยมแบบคอนเซอร์เวทีฟ’ (Conservative Populism) ที่ใช้ในความหมายเพียงแค่ดึงเสียงเพื่อเลือกตั้งจากประเด็นเล็กๆ ดังนั้นประชานิยมในการเมืองไทยจึงเป็นประชานิยมแบบล้าหลังที่ไม่ได้ขยับไปไหน

 

มิถุนายน: สหภาพยุโรป – การเลือกตั้งในองค์การเหนือรัฐนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุโรปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากที่ผ่านมา อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในเวทีโลก โดยเฉพาะบทบาทในการสนับสนุนยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย

 

กันยายน: (ออสเตรีย)

 

ตุลาคม: (จอร์เจีย / ลิทัวเนีย)

 

พฤศจิกายน: สหรัฐอเมริกา – หลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เพื่อเลือกผู้นำทำเนียบขาวไม่ต่างจากการเลือกตั้งของโลก เพราะผลกระทบต่อการเมืองโลกมีค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 โดย ดร.สุรชาติ มองว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ถ้าทรัมป์กลับมา การเมืองโลกก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้า โจ ไบเดน ยังคงรักษาเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ เอาไว้ได้ เราอาจเห็นความต่อเนื่องของการเมืองโลกชุดเดิมในปี 2024

 

ปลายปี 2024 – ต้นปี 2025: (สหราชอาณาจักร)

 

ภาพ: TR STOK / Shutterstock

 

3. ความแปรปรวนของอากาศ

 

ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ผลกระทบใหญ่จากความแปรปรวนของอากาศมี 4 ส่วน โดย 2 ส่วนแรก คือผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และต่อระบบนิเวศ วันนี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเราไม่สามารถคาดเดาอากาศได้อย่างตรงไปตรงมา เราเห็นอากาศที่มีความแปรปรวนอย่างฉับพลัน บางพื้นที่ก็มีอากาศร้อนรุนแรง ปี 2023 เราเห็นตัวอย่างของคลื่นความร้อน ผู้คนในหลายประเทศรู้สึกว่าโลกร้อนจัดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมถึงสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่

 

ส่วนที่ 3 ความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการผลิตอาหารของโลก (Food Production) ซึ่งอาจนำไปสู่ ‘วิกฤตอาหาร’ (Food Crisis) ในเวทีโลก ทั้งจากเงื่อนไขทางธรรมชาติและความแปรปรวนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ อาทิ สงคราม เพราะถ้าหากรัฐผู้ผลิตอาหารเข้าสู่สภาวะสงครามแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเด็นความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ส่วนที่ 4 คือผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากความแปรปรวนดังกล่าว ทั้งไฟป่า มลภาวะและฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยตรง ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คำถามคือปี 2024 โลกจะยังร้อนขึ้นอีกไหม ฝนจะยังตกชุกเหมือนที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่ และเราจะรับมือกับวิกฤตด้านสภาพอากาศเหล่านี้อย่างไร

 

ภาพ: SomYuZu / Shutterstock

 

4. บทบาทปัญญาประดิษฐ์ (AI)

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในหลายมิติของชีวิตมนุษย์ ดร.สุรชาติ ระบุว่า ปัจจุบันเราเห็นพัฒนาการของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ข้อถกเถียงในการออกระเบียบหรือการออกมาตรการ (Regulatory) ที่จะควบคุม AI ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยบทบาทของ AI มักจะมีข้อกังวลหลักๆ ใน 2 มิติ คือมิติของการใช้ประโยชน์และมิติของการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการใช้ประโยชน์ที่ขยายไปสู่เรื่องของอาชญากรรม หรือเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีลักษณะข้ามชาติ รวมถึงการพัฒนาอาวุธที่ทันสมัย

 

โจทย์ AI จะเป็นโจทย์สำคัญอีกชุดหนึ่งที่จะซ้อนเข้าไปกับโจทย์ในข้อที่ 1 อย่างการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ โดยผูกโยงอยู่กับชัยชนะสำคัญที่ว่าใครจะเป็นประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้าหรือควบคุม AI ได้มากกว่ากัน

 

ภาพ: Summit Art Creations / Shutterstock

 

5. ปัญหาเศรษฐกิจโลก

 

ดร.สุรชาติ ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจโลกก็คงคล้ายคลึงกันกับทุกปี คำถามสำคัญคือปี 2024 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในอัตราส่วนเท่าใด ถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกควรจะโตอยู่ที่ราว 3-3.1% ซึ่งแน่นอนว่าถ้าโตมากกว่านี้ก็ถือเป็นเรื่องดี

 

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ยังผูกโยงอยู่กับวิกฤตเศรษฐกิจในรัฐมหาอำนาจ อาทิ จีน โดยเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิดจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ปัญหาเศรษฐกิจจีนจะมีความผันผวนหรือไม่ ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยธนาคารปี 2024 ก็ยังคงเป็นโจทย์สำคัญทางเศรษฐกิจ

 

ส่วนโจทย์ใหญ่ที่ยังคงน่ากังวลคือกลุ่มกองกำลังฮูตีในเยเมนประกาศโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดง เพื่อเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลยุติการทำสงครามในฉนวนกาซาในทันที ผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นคือบริษัทเรือสินค้าบางส่วนเริ่มทยอยประกาศเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งทางทะเลแล้ว แปลว่าค่าขนส่งสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น จะมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ถ้าในปี 2024 สถานการณ์โลกยังผันผวน ตะวันออกกลางยังปั่นป่วน ราคาพลังงานก็อาจจะขยับมากขึ้นตามไปด้วย และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน

 

ภาพ: THE STANDARD

 

ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลพวงจากปีเก่า ส่งผ่านไปยังปีใหม่ ยังคงทิ้งโจทย์ใหญ่ๆ ไว้เกือบทั้งนั้น โจทย์ใหญ่จากปี 2023 เรื่องดีมีเรื่องเดียวนั่นคือการระบาดของโรคโควิดเบาบางลง ขณะที่โจทย์ปี 2024 เมื่อมองผ่านเวทีโลกทั้ง 5 โจทย์ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่เกือบทั้งหมด สงคราม ผลพวงจากสงครามและการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจคงจะเข้มข้นขึ้น ขอเพียงปี 2024 อย่ามีวิกฤตที่ใหญ่กว่านี้ อย่ามีวิกฤตอย่างช่องแคบไต้หวัน และหวังว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี Super Elections จะไม่ทำให้การเมืองโลกผันผวนขึ้นมากกว่าที่เราเห็นในปี 2023

 

ส่วนเรื่องอากาศปี 2024 เราจะใส่หน้ากากอนามัยให้กับปัญหาอากาศมากกว่าปัญหาโควิด แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าโรคระบาดยังไม่หายไปไหน และความแปรปรวนของสภาพอากาศยังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ขณะที่ปัญหา AI จะเป็นโจทย์ใหญ่ในเวทีโลกแน่ๆ และขอให้เศรษฐกิจโลกในปี 2024 เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจที่จะทำให้เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และปัญหาดอกเบี้ยรุนแรงยิ่งขึ้นกว่านี้

 

ท่ามกลางสภาวะความผันผวนของโลก ชีวิตยังต้องมีความหวังที่จะเดินไปข้างหน้า ชีวิตในทุกสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก สิ่งเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้มากที่สุดคือ เรายังมีความหวังกับอนาคต

 

ขอให้ปี 2024 เป็นอีกปีที่เรายังมี ‘ความหวัง’

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X