×

ศาลฎียกฟ้อง 6 พันธมิตร ชุมนุมดาวกระจายไล่สมัคร แต่ให้จำคุก ‘ไชยวัฒน์-อมร-เทิดภูมิ’ คนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

โดย THE STANDARD TEAM
31.08.2021
  • LOADING...
ศาลฎีกา

วันนี้ (31 สิงหาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สุริยะใส กตะศิลา, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, อมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และ เทิดภูมิ ใจดี อดีตแกนนำ พธม. เป็นจำเลยที่ 1-9

 

ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 กรณีที่มีการรวมตัวชุมนุมต่อต้านและขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

 

อัยการโจทก์ฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 จำเลยทั้ง 9 คนได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้นำกลุ่ม พธม. จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร. เป็นที่ชุมนุมประท้วง ไปจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2551 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า ‘นักรบศรีวิชัย’ นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ไม้เบสบอล หนังสติก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ ส่วนบนเวทีปราศรัย จำเลยทั้ง 9 คนได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลสมัครตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนกระทำการปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ ‘ดาวกระจาย’ ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

 

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเป็นการฟ้องจำเลยซ้ำกับคดี พธม. บุกรุกทำเนียบรัฐบาล หมายเลขดำ อ.4925/2555 อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 7-9 ไว้ก่อนมีกำหนด 2 ปี

 

ต่อมาศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเห็นว่าอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้นไม่ได้กระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 215 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความกรณีผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงาน จากการที่เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อเวทีและเต็นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ได้เริ่มจากกลุ่มผู้ชุมนุม และที่มีการตรวจค้นพบขวานและเหล็กแป๊บในพื้นที่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมขนย้ายเต็นท์และข้าวของออกไปหมดแล้ว จึงค่อนข้างผิดวิสัย อีกทั้งก็ไม่ได้ค้นพบจากตัวผู้ชุมนุม ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ของผู้ชุมนุมเอง เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม พธม. เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

 

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย โดยในวันนี้ จำเลยที่ 1-8 เดินทางมาศาลแล้ว ก่อนที่ เทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 9 ซึ่งนั่งรถเข็นมาฟังคำพิพากษาด้วยเช่นกัน 

 

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีที่อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558 หรือไม่ เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการกดดันให้รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ลาออก ซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ดังนั้นจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 อีก ถือว่าเป็นคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิด ซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย 

 

ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น เห็นว่าได้ขึ้นปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล นอกจากนี้จำเลยที่ 7 ยังเดินทางไปชุมนุมปิดถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 8 นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นการร่วมชุมนุมที่มีการปิดกั้นการจราจร จึงพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 7-9 เป็นการมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 66 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 อนุ 2 และอนุ 3 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกคนละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising