“สิ่งที่เดอะมอลล์ กรุ๊ปกำลังทำคือการสร้างฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของการช้อปปิ้ง” นี่คือคำกล่าวแรกของ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนถึงแผนการลงทุนครั้งใหญ่กว่า 5 หมื่นล้านบาท
ศุภลักษณ์ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ไทยจะสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้คือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดคือ ‘ช้อปปิ้ง’ ซึ่งคุณรู้หรือไม่ว่า CHANEL ในไทยทำยอดขายเป็นอันดับ 3 ของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ว่ากันว่าก่อนจะเป็น ‘Nitori’ แห่งแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ พื้นที่นี้เคยชวน IKEA มาก่อน แต่สุดท้ายไปลงเอยที่เอ็มสเฟียร์ของเดอะมอลล์แทน
- เพราะเป็นแบงก์แรกที่ปล่อยสินเชื่อ! เหตุผลที่ ‘เดอะมอลล์’ หย่ากับ SCB มาแต่งงานกับ ‘ธนาคารกรุงเทพ’ ปั้นบัตร Co-Brand ที่มีสัญญายาว 10 ปี
- แม่ทัพใหญ่ เดอะมอลล์ มองปี 2566 เป็น ‘ปีทอง’ จ่อเปิดศูนย์การค้า 3 แห่งพร้อมกัน พร้อมลุ้น Apple Store-Tesla ตั้งโชว์รูมที่ ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’
แต่ก่อนหากคนไทยต้องการช้อปปิ้งจะต้องไปที่ฮ่องกง หรือถ้ามีเงินหน่อยก็ไปที่ปารีส แต่ตอนนี้เมืองอย่างดูไบที่สร้างทุกอย่างจากทะเลทรายอันเวิ้งว้าง หรือสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่ใหญ่มากได้สร้างย่านการค้าที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ทำให้เดอะมอลล์ต้องทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อให้เมืองไทยกลายเป็นจุดหมายที่ใครๆ ก็อยากมา
“พัฒนาย่านการค้า ไม่ใช่เพียงพัฒนาโครงการศูนย์การค้า แต่เป็นการสอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยภาพรวม เช่นเดียวกับเมืองที่เป็นย่านการค้าสำคัญในโลก ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสำคัญภายในกรุงเทพฯ
“ปัจจุบัน เดอะมอลล์อยู่ในแวดวงค้าปลีกมาแล้ว 42 ปี โดยเริ่มจากการทำเดอะมอลล์ ราชดำริ ซึ่งยอมรับว่า 10 ปีแรกเป็นช่วงที่ท้าทายเพราะเรายังเล็กอยู่มาก แข่งกับรายใหญ่ได้ยาก เราจึงย้ายไปเปิดชานเมืองซึ่งไม่มีคู่แข่ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงขยายเข้ามาใจกลางเมือง”
ย้อนกลับไป เดอะมอลล์ ‘สร้างย่านการค้าจนประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา’ ในย่านรามคำแหง ท่าพระ งามวงศ์วาน และยิ่งใหญ่ใน 2 มุมเมืองเมื่อปี 2537 ในย่านบางกะปิ สำหรับโครงการอภิมหาอาณาจักรศูนย์การค้าครบวงจร เดอะมอลล์ บางกะปิ และในย่านบางแค เพชรเกษม สำหรับเดอะมอลล์ บางแค
ต่อเนื่องกับโครงการ ‘ลักชัวรีมอลล์แห่งแรกในประเทศไทย’ ในปี 2540 กับโครงการศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และปี 2558 กับโครงการศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการสำคัญในย่านกลางเมือง (Midtown) ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของสังคม เศรษฐกิจ บริเวณใจกลางถนนสุขุมวิท
วันนี้เดอะมอลล์มีความพร้อมในการพัฒนาย่านการค้าให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น สอดรับกับแผนพัฒนา การขยายตัวของเมือง ผ่าน 3 โครงการศูนย์การค้าใน 3 มุมเมือง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 3 โครงการกว่า 5 หมื่นล้านบาท
โดยโครงการ ดิ เอ็มสเฟียร์ ใจกลางย่านการค้าถนนสุขุมวิท จะเป็นความเร้าใจใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยหลับใหล โดยจะเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท ฉลองร่วมกันทั้งเอ็ม ดิสทริค (Em District)
องค์ประกอบของพื้นที่สำคัญภายในโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ ได้แก่
- พื้นที่ 200,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้าและอาคารทาวเวอร์ (Tower)
- พื้นที่ร้านค้า 60,000 ตารางเมตร,
- พื้นที่ร้านอาหาร 20,000 ตารางเมตร
- พื้นที่ UOB LIVE 20,000 ตารางเมตร
- พื้นที่ IKEA (อิเกีย) 15,000 ตารางเมตร
- อาคาร EM Tower 18,000 ตารางเมตร
- พื้นที่จอดรถ 70,000 ตารางเมตร
สำหรับอีก 2 มุมเมือง ฝั่งตะวันออกกับเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาบางกะปิ และเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาบางแค จะเป็นศูนย์กลางความมหัศจรรย์แห่งการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบและยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยทั้ง 2 โครงการมีพื้นที่รวมกว่า 700,000 ตารางเมตร (บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร, บางแค 350,000 ตารางเมตร)
สำหรับเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ และต้นปี 2567 ที่เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค พร้อมกับการส่งความสุขกับเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท
ขณะที่โครงการแบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) ศูนย์การค้าแห่งใหม่ระดับเวิลด์คลาส พื้นที่ 100 ไร่ งบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ของเดอะมอลล์ กรุ๊ปนั้น ศุภลักษณ์ย้ำว่า กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างแม้จะล่าช้าไป 3 ปีจากกำหนดเดิม โดยคาดว่าจะเปิดในปี 2569-2570
“ปัจจุบันเดอะมอลล์มีรายได้ 5 หมื่นล้านบาท กำไร 6 พันล้านบาท เติบโตจากเมื่อก่อนที่ทำกำไรได้ 3-4 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว” ศุภลักษณ์กล่าว