×

‘ศุภวุฒิ’ คาดวิกฤตยูเครนอาจทำน้ำมันแพง 2 ปี มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยยืดเยื้อและสูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมรับมือ

09.03.2022
  • LOADING...
‘ศุภวุฒิ’ คาดวิกฤตยูเครนอาจทำน้ำมันแพง 2 ปี มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยยืดเยื้อและสูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมรับมือ

‘ศุภวุฒิ’ มองวิกฤตในยูเครนจะทำให้ชาติในยุโรปปรับตัวลดการพึ่งพารัสเซีย กดดันราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงยาว 2 ปี ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจยืดเยื้อและสูงขึ้น แนะไทยเร่งวางยุทธศาตร์ปรับโครงสร้างพลังงานระยะยาว

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่าประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาดูจากเรื่องนี้คือการที่รัสเซียยังไม่สามารถยึดยูเครนได้ หรือต่อให้ยึดได้ก็ไม่สามารถปกครองได้ โดยมีความเป็นไปได้ที่ชาติตะวันตกจะหนุนหลังรัฐบาลพลัดถิ่นของยูเครน ซึ่งภายใต้ภาวะดังกล่าวการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจะรุนแรงและลากยาวออกไป

 

“การคว่ำบาตรรัสเซียจะทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นเพราะรัสเซียผลิตน้ำมันอยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งออกข้าวสาลีร่วมกับยูเครน 29% ของโลก ส่งออกข้าวโพด 18% ของโลก ส่งออกโพแทสเซียมและยูเรีย 35% และ 14% ของโลกซึ่งส่วนนี้จะทำให้ปุ๋ยแพง และยังมีสินค้าอีกหลายตัวที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสำคัญ” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้ชาติยุโรปไม่ไว้วางใจรัสเซียอีกต่อไป และเริ่มวางแผนจะปรับความสัมพันธ์และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้พึ่งพารัสเซียน้อยลง โดยล่าสุดเยอรมนีได้ประกาศแล้วว่าจะค่อยๆ ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของชาติตะวันตกก็ทยอยถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย

 

อย่างไรก็ดี สำหรับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่จะมีต่อภาคการเงิน ศุภวุฒิมองว่า ความรุนแรงจะมีไม่มากเนื่องจากรัสเซียมีขนาด GDP เพียง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และมีหนี้ต่างประเทศอยู่ราว 3-4 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แม้ว่าธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์จะได้รับความเสียหาย แต่ก็น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่รับมือ 

 

ขณะเดียวกัน อาจมีสถาบันการเงินขนาดเล็กหรือกองทุนบางประเภทที่เข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัสเซียที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน แต่ก็คงมีจำนวนที่ไม่มากนัก

 

ศุภวุฒิประเมินอีกว่า หากชาติตะวันตกยังเดินหน้าใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้นกับรัสเซียอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไต่ขึ้นไปถึงระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ อย่างไรก็ดี ราคาที่ระดับดังกล่าวจะถือเป็นจุด Demand Destruction ทำให้ราคาจะค่อยๆ ปรับลดลงมา 

 

“หากดูกำลังการผลิตน้ำมันในอนาคตกลุ่ม OPEC ยังสามารถเพิ่มการผลิตได้อีก 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อิหร่านหากปลดล็อกการคว่ำบาตรได้ก็จะเพิ่มได้อีก 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อรวมกันก็อาจเข้ามาทดแทนน้ำมันของรัสเซียได้ แต่ราคาคงจะอยู่ในระดับสูงไปอีกราว 2 ปี” ศุภวุฒิกล่าว

 

Fed ส่อปรับแผนการขึ้นดอกเบี้ย

ศุภวุฒิยังเชื่อว่า การบุกยูเครนของรัสเซียจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องปรับเปลี่ยนแนวการดำเนินนโยบายทางการเงิน จากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง โดยขึ้น 0.5% ในเดือนนี้และทั้งปีอาจขึ้นถึง 7 ครั้งเพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัดเลยในปีนี้เลย ก็อาจต้องปรับเป็นขึ้นดอกเบี้ยช้าลงและอาจยืดเยื้อไปถึงปีหน้าแทน

 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ Fed เริ่มหน่อมแน้มขึ้น เพราะกลัวว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย ตอนนี้คนจึงมองกันว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้แค่ 0.25% และทั้งปีอาจขึ้นแค่ 3-4 ครั้ง แต่การขึ้นจะลากยาวไปถึงปลายปีหน้าแทน ทำให้ Terminal Rate จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3-3.5% อาจเพิ่มเป็น 5% เพราะไปเลี้ยงเงินเฟ้อเอาไว้” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวว่า การรักษาสมดุลระหว่างการดูแลเงินเฟ้อและการดูแลไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย ไปพร้อมๆ กับต้องลดงบดุลถือเป็นโจทย์ที่ Fed ไม่เคยเจอมาก่อน โดยมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลับไปถดถอย หากโชคไม่ดีดอกเบี้ยขึ้นช้าไปและเงินเฟ้อฝังรากลึกในระบบจนเกิดเป็น Wage Price Spiral ซึ่งในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ภาวะ Stagflation 

 

‘ไทย’ ไร้ความพร้อมรับมือเงินเฟ้อสูง

เมื่อถามถึงความพร้อมของไทยในการรับมือเงินเฟ้อที่เป็นขาขึ้นทั้งปีในปีนี้ ศุภวุฒิกล่าวว่า สถานะของไทยในปัจจุบันยังไม่พร้อมจะรับมือกับเงินเฟ้อ เพราะยังมีคนติดโควิดวันละหลายหมื่นคน เศรษฐกิจยังห่างไกลจากการฟื้นตัวสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่นโยบายภาครัฐที่ออกมาก็เน้นไปที่การเยียวยามากกว่าการกระตุ้นหรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ 

 

“เรื่องราคาพลังงานเราก็เน้นตั้งรับใช้เงินจากกองทุนอุดหนุนดีเซล ก๊าซหุงต้ม พอหมดก็กู้ แต่วันหนึ่งภาครัฐก็ต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามตลาด เมื่อถึงวันนั้นราคาจะขึ้นแรงมาก อีกหนึ่งปัญหาคือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมด ขณะที่พลังงานนำเข้าก็มีแนวโน้มแพงขึ้น แต่เรายังไม่มียุทธศาสตร์ระยะยาวว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล” ศุภวุฒิกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising