×

เชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ มหันตภัยเงียบใกล้ตัวเรา

04.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘Superbug’ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก
  • มีการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์การติดเชื้อยังไม่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้นในอัตราเช่นนี้ทุกปี ในปี ค.ศ. 2050 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละ 10 ล้านคน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทุกๆ 3 วินาที
  • ในอนาคตถ้าสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น จะมีคนอีกหลายล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อนิดๆ หน่อยๆ ที่เราไม่เคยต้องกลัวกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาดแผลขีดข่วนเล็กน้อย หรือแม้แต่โรคอุจจาระร่วงและกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น

ความสำคัญและผลกระทบของปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ

ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ‘Superbug’ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น พบว่ามีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตด้วยภาวะระบบหายใจล้มเหลวและติดเชื้อในกระแสเลือดจากโรคปอดอักเสบ โดยเชื้อที่เธอติดนั้นเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาทั้งหมดที่มีในประเทศ ทีมแพทย์ที่รักษาตื่นตระหนกมาก เพราะไม่เคยเกิดรูปแบบการดื้อยาอย่างมากเช่นนี้ในพื้นที่มาก่อน ถึงขั้นเรียกการติดเชื้อ Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae (CRE) ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงของเธอว่าเป็นฝันร้ายแห่งการติดเชื้อ และยังแถลงข่าวต่ออีกว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้ อนาคตของพวกเราคงเลวร้ายแน่นอน”

 

หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ทางองค์การอนามัยโลกเคยแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ชายหนุ่มวัยกลางคนที่ร่างกายแข็งแรงดีแต่กลับต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่กระจายมาจากทางเดินหายใจส่วนต้น หรือเด็กทารกแรกเกิดที่เสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด (ตามสถิติแล้วมีถึงประมาณสองแสนคนต่อปีทั่วโลกเลยทีเดียว) และนอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยรายอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ สรุปได้ง่ายๆ ก็คือต่อไปในอนาคตถ้าสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น จะมีคนอีกหลายล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อนิดๆ หน่อยๆ ที่เราไม่เคยต้องกลัวกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บาดแผลขีดข่วนเล็กน้อย หรือแม้แต่โรคอุจจาระร่วงและกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น

 

จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มีการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์การติดเชื้อยังไม่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้นในอัตราเช่นนี้ทุกปี ในปี ค.ศ. 2050 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละ 10 ล้านคน หรืออาจกล่าวได้ว่าในปี ค.ศ. 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทุกๆ 3 วินาทีเลยทีเดียว นอกจากนี้สามารถประเมินเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 66 ล้านล้านปอนด์หรือ 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลนี้ประมาณการในปี ค.ศ. 2014) เรียกได้ว่าการติดเชื้อดื้อยานี้จะฆ่าคนให้เสียชีวิตได้มากมายยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์ (ที่นับกันว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์) ทั้งสองลูกในสงครามโลกครั้งที่สองรวมกันถึงประมาณ 50 เท่า และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก

 

 

ในประเทศไทย สถานการณ์การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง มีข้อมูลรายงานว่าคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 100,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คนต่อปี เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง 6,000 ล้านบาท และทางอ้อม 40,000 ล้านบาท

 

 

ในขณะนี้ทั่วโลกต่างเริ่มให้ความสนใจและหันมาจับมือร่วมกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 มีผู้นำประเทศจาก 193 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พร้อมใจกันร่วมลงนามในปฏิญญาสำคัญของสหประชาชาติ (UN) ที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือ Superbug ให้หมดไปจากโลก ในระหว่างการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอมเริกา

 

กลไกการเกิดขึ้นของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ

หากเราจะกล่าวว่าเชื้อแบคทีเรียนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกคงไม่ผิดอะไร มีการค้นพบว่าเชื้อแบคทีเรียมีชีวิตอยู่คู่โลกมาตั้งแต่ห้าแสนปีก่อน

 

เชื้อแบคทีเรียกระจายอยู่แทบทุกที่รวมถึงภายในร่างกายของมนุษย์ด้วยเช่นกัน ในร่างกายของมนุษย์เรานั้นจะประกอบไปด้วยเชื้อแบคทีเรียชนิดดีและชนิดก่อให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วย

 

กลไกการเกิดเชื้อดื้อยาที่สำคัญที่สุดนั้นเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ยานี้จะเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียทุกชนิด ทั้งชนิดที่ดีหรือชนิดก่อโรคที่มีอยู่ในร่างกาย คงเหลือไว้ก็แต่เชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยา ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่ถูกทำลายด้วยาปฏิชีวนะได้ง่ายๆ อยู่แล้ว

 

เชื้อดื้อยาที่อยู่รอดจากยาจะเจริญเติบโตและแบ่งตัวในร่างกายของเราได้ง่ายและมากขึ้น เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่คอยช่วยป้องกันเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว นอกจากนี้เชื้อดื้อยาที่เจริญเติบโตมากขึ้นก็จะถ่ายทอดพันธุกรรมดื้อยานี้ต่อไปเรื่อยๆ ในร่างกายได้อีกด้วย

 

(European Health Management Association)

 

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

 

1.  การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นและการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง กรณีนี้พบบ่อยมากทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน และรวมถึงร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากยาปฏิชีวนะนั้นไม่ได้ถูกกำหนดข้อจำกัดในการใช้ยาที่ชัดเจน และยาเองก็เข้าถึงได้ง่ายทำให้มีการใช้ยาเกินความจำเป็น

 

โดยตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกพบว่า มีมากถึงครึ่งหนึ่งจากผู้ป่วยที่ใช้ยาทั้งหมดเลยทีเดียว นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ควรได้รับยาปฏิชีวนะจริงๆ ก็มีการใช้ยาอย่างไม่ถูกหลักการ โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะหยุดยาทันทีเมื่อรู้สึกดีขึ้น รับประทานยาไม่ครบตามกำหนด ทำให้การรักษาการติดเชื้อนั้นยังไม่หายสนิทและอาจต้องย้อนกลับมารับประทานยาใหม่เมื่ออาการกำเริบอีกครั้ง จึงนับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อเกิดการพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาที่สำคัญมากในปัจจุบัน

 

2.  การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในฟาร์มปศุสัตว์ ปัญหาเชื้อดื้อยาส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตและเพื่อเพิ่มน้ำหนักของสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอย่างยิ่ง เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกค้างของเชื้อดื้อยาสู่มนุษย์ได้

 

ในสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ จึงไม่อนุญาตให้จำหน่ายและใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในฟาร์มปศุสัตว์มากกว่า 10 ปี ส่วนประเทศไทยยังรอกันต่อไป

 

3.  ขาดการผลิตยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ นับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบยาเพนนิซิลินและผลิตออกใช้จริงในปี ค.ศ. 1940 เราก็มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ๆ เรื่อยมา และเชื้อแบคทีเรียเองก็ทยอยดื้อยาทุกตัวด้วยเช่นกัน แต่ในที่สุดแล้ว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เป็นต้นมา เราก็ยังไม่สามารถคิดค้นยากลุ่มใหม่ๆ ได้อีก นับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่เราไม่มียาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ใช้ ซึ่งหมายถึงถ้ามีการติดเชื้อดื้อยา ก็เท่ากับเราอยู่ในยุคที่ไม่ต่างจากยุคที่ปราศจากยาปฏิชีวนะก็ว่าได้ 

 

4.  การขาดสุขอนามัยที่ถูกต้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการล้างมือที่ถูกต้อง จากผลสำรวจพฤติกรรมการล้างมือในปี พ.ศ. 2557 พบว่า คนไทยยังไม่ล้างมือหลังขับถ่ายสูงถึงร้อยละ 88 โดยที่ในจำนวนคนที่ล้างมือนั้นร้อยละ 41 ล้างมือไม่ถูกวิธี และมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะจริงๆ แล้วการล้างมือนั้นเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพในการลดการแพร่กระจายการติดเชื้อได้ดีเยี่ยม

 

การป้องกันและลดการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ

อ่านถึงตอนนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเริ่มวิตกกังวลถึงสถานการณ์ของมหันตภัยเงียบนี้แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามเรายังพอมีเวลา แต่ต้องช่วยกันวันนี้และตอนนี้เลย เรารอไม่ได้อีกแล้ว องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำต่อประชาชนทั่วไปในการช่วยลดการเกิดเชื้อดื้อยาไว้ดังนี้

 

1.  ควรใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นและควรรับกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค ไม่ควรไปซื้อหายามารับประทานเอง เพราะบ่อยครั้งที่โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกตัวอย่างเช่น อาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอนั้น พบว่าร้อยละ 80 นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

 

2.  เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็ควรใช้ให้ถูกขนาดยา ตรงตามมื้อและครบตามจำนวนที่ได้รับมา ดังนั้น แม้ว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นแล้วก็ควรรับประทานยาให้ครบตามจำนวนที่ได้รับมาจนหายขาด

 

3.  อย่านำยาปฏิชีวนะที่เหลือค้างหรือรับมาจากผู้อื่นมารับประทาน เพราะนอกจากการส่งเสริมให้เกิดการดื้อยาแล้ว ยังอาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการแพ้ยาได้

 

4.  พยายามป้องกันการติดเชื้อดื้อยาด้วยการล้างมือให้ถูกต้องอยู่เสมอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อบ่งชี้ และพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดื้อยาอยู่

 

จะเห็นว่าวิธีการต่างๆ ข้างต้นนั้นไม่ยากเลย เราควรตระหนักกันว่ายาปฏิชีวนะนั้นเป็นทรัพยากรจากภูมิปัญญาที่มีค่ายิ่งของมนุษย์ เพราะช่วยรักษาชีวิตของเราและคนที่เรารักไว้จากเชื้อโรคร้าย แต่อย่าลืมว่าทรัพยากรทุกอย่างย่อมมีวันหมดไป ขอให้เราหวงแหนและใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นเท่านั้น แล้วปัญหาเชื้อดื้อยาที่น่ากลัวนี้จึงจะค่อยๆ ดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X