นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ประเภท Super-Earth อย่างน้อย 1 ดวง โคจรในเขต Habitable Zone ที่อาจมีอุณหภูมิเหมาะสมและเอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ รอบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 137 ปีแสง
ดาวเคราะห์ TOI-715 b ถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกจากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.55 เท่าของโลก และโคจรรอบเขต Habitable Zone หรือเขตที่อาจพบน้ำในรูปของเหลวบนพื้นผิว เช่นเดียวกับเขตที่โลกโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์
TOI-715 b ใช้เวลาเพียง 19 วันเพื่อโคจรรอบดาวฤกษ์ประเภท M-type หรือเป็นดาวแคระแดง ที่มีมวลและอุณหภูมิน้อยกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้เขต Habitable Zone ของระบบดาวแห่งนี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ TOI-715 มากกว่าขอบเขตในระบบสุริยะ
แม้จะโคจรรอบเขตที่เอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะมีชีวิตอาศัยอยู่ หรือแม้แต่พบน้ำอยู่บนพื้นผิว โดยนักดาราศาสตร์ยังต้องศึกษาองค์ประกอบของบรรยากาศของดาว TOI-715 b เพื่อดูว่ามันมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน
นอกจากดาวเคราะห์แบบ Super-Earth นักดาราศาสตร์ยังตรวจพบหลักฐานของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอีกดวง ที่มีขนาดเพียง 1.06 เท่าของโลก โคจรอยู่ที่ขอบของเขต Habitable Zone รอบดาวฤกษ์ TOI-715 เช่นกัน และจะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดเล็กที่สุด ที่กล้อง TESS ได้พบว่าอยู่ในเขตเอื้อต่อการดำรงชีวิต เมื่อได้รับการยืนยันข้อมูลในอนาคต
การค้นพบดังกล่าว เป็นความร่วมมือของคณะนักดาราศาสตร์จากนานาประเทศ นำโดย ดร.จอร์จินา ดรานส์ฟิลด์ นักวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society เดือนมกราคม 2024
ภาพ: NASA / JPL-Caltech
อ้างอิง: