คืนนี้ (30 สิงหาคม) มีปรากฏการณ์ ‘Super Blue Moon’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ในคืนจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน สามารถรับชมได้ตลอดคืน พร้อมกับมีดาวเสาร์ใกล้โลกปรากฏอยู่ใกล้เคียง
Super Blue Moon มาจาก Super Full Moon หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี กับคำว่า Blue Moon ที่ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนสีของดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน แต่ใช้เรียกการเกิดจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือนนั้นๆ
เนื่องจากดิถี หรือการเกิดข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน หรือเกือบเท่ากับช่วงเวลาหนึ่งเดือนบนโลก ทำให้ในแต่ละเดือนมักมีคืนจันทร์เพ็ญแค่ 1 วัน แต่สำหรับเดือนสิงหาคม 2023 มีคืนจันทร์เต็มดวงครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ทำให้ในคืนนี้ (30 สิงหาคม) ถูกเรียกเป็น Super Blue Moon เนื่องจากเป็นคืนจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 และระยะที่เข้ามาใกล้โลกที่สุดในคืนจันทร์เต็มดวง
ระยะห่างของดวงจันทร์จะอยู่ใกล้โลกสุดประมาณ 357,334 กิโลเมตร มีผลให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย โดยมีขนาดใหญ่กว่าราว 7% และสว่างกว่าปกติประมาณ 15%
ทั้งนี้ Super Full Moon สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน และยังมีดาวเสาร์ที่อยู่ในช่วงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (เข้าใกล้โลกที่สุดไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา) ปรากฏเป็นดาวสว่างดวงที่อยู่เคียงข้างดวงจันทร์ด้วย
นอกจากรับชมด้วยตาเปล่าแล้ว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ยังได้จัดจุดสังเกตการณ์หลักไว้ 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ของจังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.
ภาพ: Fernando Astasio Avila via ShutterStock