รองนายกรัฐมนตรีชี้ไทยต้องฉวยโอกาสในวิกฤตผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า โวต่างชาติสนใจลงทุนใน EEC แตะ 9 แสนล้านบาท ลุ้นซาอุอาจลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” จัดโดยสถานีโทรทัศน์ TNN ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤตความท้าทายในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดจนมาถึงปัญหาสงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหารโลก ซึ่งแม้ว่าไทยจะไม่ได้ก่อปัญหาเหล่านี้แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
“สิ่งที่เราต้องทำคืออดทน เข้าใจและอยู่กับมัน ที่สำคัญคือต้องมองว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสใหม่ๆ รออยู่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามสร้างโอกาสจากวิกฤตไปแล้วในหลายๆ เรื่อง เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด” สุพัฒนพงษ์กล่าว
สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การที่ไทยไปประกาศในเวที COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก เพราะหากไม่ปรับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอาจสร้างต้นทุนให้กับประเทศเป็นหลักแสนล้านหรือล้านล้านได้ในอนาคต โดยในมุมของรัฐบาลเองก็มีแผนจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดและการผลิตรถยนต์ EV
“รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตอนนี้เราเปิดให้มีการนำเข้ารถ EV มาขายได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าใน 2-3 ปี บริษัทผู้ผลิตจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย สิ่งที่จะตามมาคือระบบนิเวศของการผลิตรถ EV จะมีบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตตามมา ซึ่งจะทำให้เราเป็นศูนย์กลางได้” สุพัฒนพงษ์กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า อีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศคือการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้แอปพลิเคชัน เป๋าตัง สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลกับประชาชน 40-50 ล้านคน และล่าสุดยังสานต่อด้วยการเปิดขายสลากดิจิทัลในราคา 80 บาท ทำให้ล่าสุดมีผู้ลงทุนรายใหญ่ระดับโลกให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Service และ Cloud Computing ในไทย
สุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในนี้ ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจย้ายฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากมองเห็นถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ล่าสุดตัวเลขของผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยพุ่งสูงถึง 9 แสนล้านบาทแล้ว
“การเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียล่าสุดช่วยขยายตลาดให้สินค้าไทยเข้าไปในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาได้มากขึ้น เขามีน้ำมันแต่ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านนี้ โดยโครงการที่คุยกันไว้ว่าน่าจะมีการลงทุนระหว่างกันขณะนี้มีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท” สุพัฒนพงษ์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP