วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา ศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …. พร้อมด้วย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ และ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ แถลงกรณีแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี 851 ราย ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน และเรียกร้องให้ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ว่า ขอยืนยันว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการออกประกาศเพื่อดูแลความเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะการดูแลบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ขณะนี้เราได้ตรวจสอบข้อมูลจากการที่เยาวชนนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ ไม่ปรากฏว่ามีนัยอันสำคัญ หมายความว่าประกาศที่มีผลโทษทางอาญา สังคมมีส่วนช่วยกันให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ทางกลุ่มแพทย์เสนอมานั้น ในฐานะประธาน กมธ. ขอขอบคุณคณะแพทย์ที่ได้แสดงความห่วงใย ยืนยันว่าสิ่งที่ท่านเสนอกับสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องเดียวกัน คือห่วงใยบ้านเมือง ซึ่งหน้าที่ของตนและคณะจะเร่งออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างรอบคอบรวดเร็ว เพื่ออุดช่องว่างที่ท่านเห็นว่ามีอยู่อย่างเร็วที่สุด
“สถานการณ์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรกับสังคมและเยาวชน เกินไปกว่าที่สถานการณ์จะรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กมธ. จะเร่งพิจารณาร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ให้เสร็จโดยเร็ว ผมคิดว่าจากการพิจารณาภายในสิ้นเดือนนี้ ร่างกฎหมายนี้จะแล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อสภาต่อไป” ศุภชัยกล่าว
ขณะที่ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก กมธ. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด มีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ว่า มิให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึงกัญชา ใครก็ตามที่ไปทำหน้าที่ในการจับกุม สามารถดำเนินคดีที่จำหน่ายให้เยาวชนได้ และด้วยมาตรการนี้ เราได้นำข้อห่วงใยจากทุกท่านมาบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายอย่างรอบด้าน มีการประยุกต์ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาใช้กับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง กระทั่งการบัญญัติเรื่องการห้ามโฆษณา การทำการตลาด หรือสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ย้ำว่าข้อห่วงใยเหล่านี้ถูกนำมาบัญญัติไว้แล้ว
“เราไม่ได้อยู่ในช่วงสุญญากาศ เพราะมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ อย่างน้อยมาตรการห้ามแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตและห้ามจำหน่ายเยาวชน ให้ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่แพทย์ห่วงใยนั้น เราได้ดำเนินการแล้ว และก่อนปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่ง 1 เดือนก่อนหน้า เรามีผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดจากการใช้กัญชา 180 คน แต่หลังจากปลดล็อกได้ 1 เดือน เรามีผู้ได้รับการบำบัดเหลือ 33 คน ลดลงกว่า 80% หมายความว่าการนำกัญชามาอยู่บนดิน และจัดการด้วยกฎกติกาของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ สามารถควบคุมดูแลได้ดีกว่าก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดังนั้น ขอให้ทุกท่านวางใจว่าขณะนี้เรามีความห่วงใยเยาวชน ขณะเดียวกันการปลดล็อกก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยจำนวนมากในการใช้กัญชาทางการแพทย์” ปานเทพกล่าว