ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น 2 ตัวเต็งที่สื่ออังกฤษคาดหมายว่าอาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร แทนที่ ลิซ ทรัสส์ ที่ประกาศลาออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่มีรายงานว่าทั้งสองได้พูดคุยกัน ก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายในการประกาศตัวลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์นี้ (24 ตุลาคม)
แหล่งข่าวสองรายเผยกับ BBC ว่า ซูนัคและจอห์นสันพูดคุยกันในเย็นวันเสาร์ (22 ตุลาคม) แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าทั้งสองพูดคุยกันเรื่องใด อย่างไรก็ตาม สื่ออังกฤษคาดว่า ทั้งสองอาจหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจับมือกันทำข้อตกลงบางอย่าง เนื่องจากทั้งคู่ยังไม่มีใครประกาศลงชิงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ผู้สมัครมีเวลาถึงเวลา 14.00 น. ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้อย่างน้อย 100 เสียงจึงจะมีสิทธิ์ลงชิงชัย
รายงานข่าวระบุว่า ซูนัครวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว 128 คน ขณะที่จอห์นสันซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากการพักผ่อนที่แคริบเบียน มีผู้สนับสนุน 53 คน อย่างไรก็ตาม ทีมหาเสียงของเขาอ้างว่า จอห์นสันได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบ 100 คนแล้ว ผู้สนับสนุนซูนัคตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีแสดงหลักฐาน
สำหรับ เพนนี มอร์ดอนต์ ซึ่งเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ประกาศลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 23 คน ซึ่งไม่เพียงพอตามที่กำหนด
BBC รายงานว่า ตลอดทั้งวันเสาร์ ส.ส. อังกฤษต่างพากันประกาศให้การสนับสนุนผู้สมัครที่ตนชื่นชอบอย่างเปิดเผย
โดยซูนัคได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในพรรคของเขา และจากบุคคลต่างๆ เช่น สตีฟ บาร์เคลย์ อดีตเสนาธิการของนายจอห์นสัน, ลอร์ด ฟรอสต์ รัฐมนตรีกระทรวงเบร็กซิต และ เกมี บาเดนอค รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ซูนัคยังได้รับการสนับสนุนจาก ซาจิด จาวิด อดีตรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีสาธารณสุข, ทอม ทูเกนธัต รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และ โดมินิก ราบ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
ด้านอดีตนายกรัฐมนตรีจอห์นสันได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรี 6 คน ได้แก่ เบน วอลเลซ, จาคอบ รีส-ม็อกก์, ไซมอน คลาร์ก, คริส ฮีตัน-แฮร์ริส, อล็อก ชาร์มา และ แอนน์-มารี เทรเวลยัน
นอกจากนี้ ในบรรดาผู้สนับสนุนของ บอริส จอห์นสัน ยังรวมถึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ปรีติ พาเทล ผู้ซึ่งกล่าวว่าเขาสามารถรวบรวมทีมที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและนำสหราชอาณาจักรไปสู่อนาคตที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ลิซ ทรัสส์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุงานสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เพียง 45 วัน โดยเธอประกาศลาออกในวันพฤหัสบดี (20 ตุลาคม) จากความผิดพลาดด้านนโยบายภาษีซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และนำไปสู่ความวุ่นวายภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: