×

ฤดูร้อนมาพร้อมค่าไฟพุ่ง? เปิดปม ‘ใช้ไฟเท่าเดิม ทำไมค่าไฟแพงขึ้น’ ขณะที่ กกพ. ยัน คำนวณค่า Ft ตามต้นทุน

19.04.2023
  • LOADING...
ค่าไฟ แพง

เปิดสาเหตุ ‘ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ทำไมค่าไฟแพงขึ้น?’ กกพ. ย้ำ พิจารณาตามโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าและภาระหนี้ กฟผ. ขณะที่กระทรวงพลังงานยอมรับ ฤดูร้อนปีนี้ค่าไฟกลับมาพีคสุด เนื่องจากวิกฤตโควิดคลี่คลาย เปิดประเทศ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ที่ล่าช้า ด้าน สอท. ห่วงค่าไฟแพงดันต้นทุนผู้ผลิต กระทบมู้ดจับจ่ายใช้สอย วอนรัฐบาลลดค่าไฟฟ้าลงให้ต่ำกว่า 4.40 บาท 

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้า ลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% 

 

อีกทั้งต้องซื้อก๊าซธรรมชาติ LNG ในราคาแพง ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงตรงกับช่วงที่ยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีที่ผ่านมา เมื่อรวมกับความต้องการก๊าซธรรมชาติ LNG ที่แพง ค่าไฟฟ้าจึงเพิ่มสูงขึ้น เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาแพง เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

“ดังนั้นเมื่อความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต่างส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าเดิม” 

 

อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้พยายามอย่างเต็มที่ให้ผ่านวิกฤตพลังงานไปให้ได้ จึงได้ออกมาตรการใช้น้ำมันในช่วงที่ราคาถูกกว่า LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ LNG แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงไม่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ทั้งหมด แต่ได้พิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาตลอด

 

นอกจากนี้หากกล่าวถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะพบว่า โครงสร้างต้นทุนค่าไฟปัจจุบัน ค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย 

 

กกพ. พิจารณาจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุด ตามลำดับ ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย ค่าโรงไฟฟ้าไปจนถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อยประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย

 

ตอบปม ทำไมค่าไฟฟ้าภาคประชาชนจึงแพงกว่าค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรม

 

ส่วนประเด็นค่าไฟฟ้าภาคประชาชนที่แพงกว่าค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรม เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงจากปลายปี 2565 ที่เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก จึงส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (เดือนมกราคม-เมษายน 2566) สูงขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงได้สั่งการให้ กกพ. คำนวณค่าไฟฟ้าจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อนเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย 

 

จะเห็นได้ว่า แม้ราคาต้นทุนพลังงานมีการปรับตัวลดลง แต่การคำนวณค่าไฟของทางสำนักงาน กกพ. ยังไม่สามารถปรับลดตามต้นทุนลงได้ โดย กกพ. ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่า Ft ที่ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า (ปี 2565) ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป 

 

“กกพ. ต้องพิจารณาสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย หากสภาพคล่องกระทบกับเครดิตของ กฟผ. ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ” คมกฤชกล่าวย้ำ

 

ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อเนื่อง ทั้งความต้องการ LNG ในช่วงฤดูหนาว และสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาจมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิง แม้หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มของปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยจะมีเพิ่มขึ้น และมีผลในงวดถัดไป 

 

กกพ. ก็มีการนำมาคำนวณในค่าไฟแล้ว ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลงคาดว่าจะเป็นช่วงปลายงวดของค่าไฟในงวดเดือนพฤษภคาม-สิงหาคม 2566 และจากสมมติฐานและค่าใช้จ่ายจริงจะถูกจ่ายคืนผ่านกลไก Ft ต่อไป 

 

หนุนครัวเรือน-ผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์เซลล์

 

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนหรือผู้ประกอบการเองก็เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟใช้เอง กกพ. สนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ติดตั้ง และย้ำว่า ยังไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาสูง 

 

กกพ. ยังยึดหลักการที่อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินต้องไม่ให้ตกเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ดังนั้นอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนจะต้องไม่ไปกระทบกับประชาชน ประชาชนต้องร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า ส่วนทาง กกพ. ยังคงพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้าอย่างเต็มที่เช่นกัน 

 

ความต้องการใช้ไฟ Peak ปี 2566 กลับมาสูงสุดในรอบ 3 ปี

 

ทางด้าน วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ Peak (พีค) สำหรับปี 2566 ในช่วงฤดูร้อนจะมีค่าสูงสุดในรอบ 3 ปี หรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เนื่องจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ประกอบกับไทยมีการเปิดประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐ ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น แต่ปริมาณไฟฟ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยที่สูงประมาณ 30%

 

นอกจากนี้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือที่เรียกว่า แผน PDP (PDP 2023) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2566 ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องพิจารณาสัดส่วนปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้าที่มากกว่า PDP ฉบับเดิม (PDP 2018) ที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ 

 

ดังนั้นเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น บวกกับแผนที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV มากขึ้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

 

“เนื่องจากเดิมทีเราหวังว่าจะทำ PDP ให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี แต่พอมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงต้องขยายเวลา และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำให้เป็นไปตามขั้นตอน และเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาก็เชื่อว่าจะกระทบต่อแผนบ้าง แต่ไม่มาก เพราะหลักการที่วางไว้เป็นการทำอย่างรอบคอบแล้ว จึงคิดว่าหลักการไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของระดับนโยบายบางเรื่องอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับแก้ไขแผนก็เป็นไปได้เช่นกัน” พีรพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

 

สอท. ห่วงค่าไฟดันต้นทุนผู้ผลิตและกระทบกำลังซื้อ

 

สรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการภาคการผลิตยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าที่สูง และอาจกระทบกำลังซื้อคนไทยด้วย

 

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นก็ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs 

 

นอกจากนี้อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย 

 

ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดพิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวดที่ 2 (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) ให้ต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย

 

รวมทั้งส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC), กลุ่มประเทศ MERCOSUR และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเผาป่าตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566

 

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 97.8% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม และสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจนี้มาจากผู้ประกอบการจำนวน 1,322 คน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.

 

และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ‘ยกเว้นต้นทุนประกอบการ’

 

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัว ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

 

“คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 103.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ 

 

“ขณะที่การเปิดประเทศของจีนเป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น”

 

สรกิจกล่าวอีกว่า ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้จะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เชิญ 9 พรรคการเมืองมาพูดถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจให้สมาชิกได้รับฟัง แต่สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังจากรัฐบาลชุดใหม่ หลักๆ เป็นเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างแท้จริงและนวัตกรรม การวิจัย และพัฒนา ที่ควรมีการเพิ่มงบประมาณ

 

“เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้น แต่อยากให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ส่วนนโยบายที่มีการออกมาหาเสียง ก็ไม่อยากให้สุดโต่งมากเกินไป อยากให้คำนึงถึงผลระยะกลางและระยะยาวด้วย” สรกิจกล่าวย้ำ

 

อ้างอิง: 

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) Isara, กระทรวงพลังงาน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X