×

หน้าร้อนกับน้ำเย็น ควรดื่มหรือไม่ควรกันแน่?

12.04.2019
  • LOADING...
หน้าร้อนกับน้ำเย็น

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นายแพทย์อดิศักดิ์ แทนปั้น กล่าวว่า “มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่า น้ำเย็นที่ดื่มเข้าไปในร่างกายส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น เพราะต้องปรับสมดุลให้เท่ากับอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส”
  • การดื่มน้ำเย็นส่งผลต่อการกระตุ้นไมเกรน รู้สึกกลืนอาหารลำบาก และมีผลต่อการย่อยอาหาร อีกทั้งการแพทย์แผนจีนยังระบุในตำราว่า การดื่มน้ำเย็นส่งผลต่อหลักปัญจธาตุ ซึ่งรบกวนภาวะสมดุลหยิน-หยางในร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่วัฒนธรรมการบริโภคของชาวจีน จึงนิยมทานของร้อนและดื่มชาร้อนๆ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยไม่เกี่ยงฤดูกาล

สงสัยมานานว่าอากาศร้อนๆ อย่างนี้ ดื่มน้ำเย็นเป็นประจำมันจะดีไหม เพราะหลายครั้งที่เราได้ยินคนบอกว่า น้ำเย็นนั้นไม่ดี แต่อยากรู้ว่าไม่ดีนั้นคือไม่ดีขนาดไหน เพราะยอมรับมาเสียเถอะว่า เจอแดดเปรี้ยงๆ อากาศร้อนตับแลบขนาดนี้ ได้ดื่มน้ำเย็นๆ สักอึก มันช่วยเพิ่มพลังชีวิตได้มากโข เรื่องนี้เราได้ลองสอบถาม นายแพทย์อดิศักดิ์ แทนปั้น คุณหมอด้านประสาทศัลยแพทย์ มาให้แล้ว เพื่อไขข้อสงสัยว่า การดื่มน้ำเย็นนั้นเป็นประโยชน์หรือให้โทษกันแน่

 

น้ำเย็นกินแล้วเย็น แต่ดื่มแล้วร่างกายทำงานหนัก

เมื่อพูดถึงน้ำเปล่า หลายคนอาจสงสัยว่า ร้อนๆ อย่างนี้ก็ต้องกินน้ำเย็นสิถึงจะดับกระหายได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว อุณหภูมิน้ำที่ดับร้อนได้ดีที่สุด ได้แก่ น้ำที่มีอุณหภูมิเดียวกับห้อง

 

“จากข้อมูลที่ค้นคว้ามา น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิเดียวกับห้องดีกับร่างกายมากกว่า หลังพบว่า มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่า น้ำเย็นที่ดื่มเข้าไปในร่างกายส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น เพราะต้องปรับสมดุลให้เท่ากับอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ระบุว่า หลังจากร่างกายรับน้ำเย็นเข้าไปแล้ว จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจหนาตัวขึ้น ทำให้หายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากว่าคุณเป็นไข้หวัด อีกทั้งกระเพาะอาหารยังบีบตัวลดลง การย่อยอาหารในลำไส้จึงช้ากว่าเดิมอีกด้วย”

 

หน้าร้อนกับน้ำเย็น

 

นอกจากนี้คุณหมอยังขอเสริมการศึกษาในปี 2001 อีกชิ้นที่พบว่า การดื่มน้ำเย็นส่งผลต่อการกระตุ้นไมเกรน ทำให้รู้สึกกลืนอาหารลำบาก อีกทั้งการแพทย์แผนจีนยังระบุในตำราด้วยว่า การดื่มน้ำเย็นส่งผลต่อหลักปัญจธาตุ ซึ่งรบกวนภาวะสมดุลหยิน-หยางในร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่วัฒนธรรมการบริโภคของชาวจีนจึงนิยมทานของร้อนและดื่มชาร้อนๆ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นฤดูกาลไหน  

 

แต่ใช่ว่าประโยชน์ของน้ำเย็นจะไม่มีเลย “ในกรณีที่ร่างกายทำงานหนัก มีเหงื่อออกมาก หรือออกกำลังกายอย่างหนักภายใต้อากาศที่ร้อนจัด จะมีโอกาสเกิดอาการภาวะร้อนฉุกเฉิน ( Heatstroke ) ได้ง่าย อาการจะมีไข้สูง (อุณหภูมิแกนสูงกว่า 40.5oC) ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ ไร้เหงื่อ การดื่มน้ำเย็นจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว โดยการไปลดอุณหภูมิภายในร่างกายให้เย็นลง” คุณหมออดิศักดิ์แนะนำ

 

หน้าร้อนกับน้ำเย็น

 

แต่ฝากไว้นิดว่า ระยะหลังมีการตรวจพบเชื้อโรคมากมายที่ปะปนมาในน้ำแข็ง ทั้งจากภาชนะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการเสิร์ฟน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เช่น บางร้านนำน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารมาให้ลูกค้ากิน วิธีป้องกันดีที่สุดคือ ดื่มน้ำที่แช่มาเย็นๆ ทำน้ำแข็งกินเองด้วยน้ำต้มสุก หรือเลือกซื้อน้ำแข็งจากเจ้าที่ไว้ใจได้ บรรจุมาอย่างมิดชิด ไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน จึงปลอดภัยที่สุด รวมถึงการดับกระหายด้วยผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนผสมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เช่น แคนตาลูป แตงโม ชมพู่ แก้วมังกร ฯลฯ เหล่านี้มีน้ำตาลไม่สูงจัด กินแล้วชุ่มคอ ชื่นใจ ดับร้อนได้ดี เช่นเดียวกับน้ำสมุนไพรไทยๆ อย่างมะตูมที่มีฤทธิ์ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรีย ช่วยดับกระหาย น้ำเก๊กฮวย น้ำหล่อฮังก๊วย และน้ำจับเลี้ยง ก็ช่วยบรรเทาความร้อนได้ดีเช่นกัน   

 

จากเรื่องนี้จึงสรุปได้ว่า หากเป็นสภาวะปกติ คนเราควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิห้องจะดีที่สุด เพราะปรับสมดุลได้ดีกว่า ส่วนน้ำเย็นเก็บไว้ดื่มชื่นใจนานๆ ครั้งก็พอ และถ้าจะดื่ม ควรตรวจเช็กให้มั่นใจว่า น้ำแข็งนั้นสะอาดจริง เพราะส่วนใหญ่เชื้อโรคที่ร่างกายรับเข้ามาในช่วงหน้าร้อน มักปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องดื่มที่พวกเราดื่มกินนั่นเอง

 

ภาพ: shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:   

FYI
  • จากข้อมูลของสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2561 มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิเศษและอุจจาระร่วง จำนวนทั้งหมด 339,176 ราย เสียชีวิต 5 ราย
  • ส่วนตัวเลขของปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1-25 มีนาคม 2562 พบผู้ป่วย 54,516 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X