วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปี 2023 แล้ว คงต้องถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า ก่อนนับถอยหลังสู่ปีหน้า 2024 ซึ่งหากจะถามถึงบทสรุปของปีนี้ เรียกได้ว่าเป็น ‘ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ทิศทางของเศรษฐกิจทั่วโลกเลยก็ว่าได้ และยิ่งตอกย้ำว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนมีผลต่อภาระค่าครองชีพ และเงินในกระเป๋าไม่น้อยเลยทีเดียว
เริ่มจากต้นปี เรื่องราวความล่มสลายแบงก์สหรัฐฯ Silicon Valley สะเทือนวิกฤตการเงินโลก, ตามด้วยปีแห่งการเลย์ออฟพนักงาน, สัญญาณเงินเฟ้อที่สูงแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ราชาแห่งคริปโตฉ้อโกง, สงครามอิสราเอล-ฮามาส, สมรภูมิเทค Chip EV และ AI ตลอดจนการแย่งชิงมหาอำนาจ ราวกับว่าเป็นการจัดระเบียบโลก
THE STANDARD WEALTH สรุปเหตุการณ์สำคัญสั้นๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และปีหน้าเรายังต้องเจออะไร ต้องเตรียมรับมืออะไรอีกบ้าง
ปี 2023 เศรษฐกิจโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
แบงก์สหรัฐฯ ล้มเป็นโดมิโน
- Silicon Valley Bank (SVB) ล้มตั้งแต่ต้นปี เป็นสัญญาณร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนสถาบันการเงินที่เป็นเหยื่อจากการสิ้นสุดของยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ
- วิกฤต SVB เกิดปรากฏการณ์โดมิโนเอฟเฟกต์วงการการเงินระดับโลก อีกหลายแห่งเผชิญปัญหาสภาพคล่องภายในช่วงเวลาเดียวกันไม่ว่าจะเป็น Signature Bank, First Republic Bank และ Silvergate Bank ในสหรัฐฯ
- ลามไปถึง Credit Suisse สวิตเซอร์แลนด์ สถาบันการเงินเก่าแก่ของยุโรป ที่ปีนี้อาจเป็นปีแห่งความล่มสลายที่มีมายาวนานกว่า 167 ปี
อิทธิพลของ AI สู่ปรากฏการณ์เลย์ออฟพนักงานทั่วโลก
- ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกมากขึ้น และเป็นปีแห่งการแจ้งเกิดวงการ ChatGPT แชตบอตอย่างเต็มตัว ซึ่งปีนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง หลายองค์กรเริ่มนำมาใช้ในการทำงาน
- เทคโนโลยีบวกกับภาวะเศรษฐกิจชะลอ ส่งผลต่อพนักงานหลายบริษัท สายการบิน ธนาคาร บิ๊กเทคอย่าง Google, Amazon, Microsoft, Yahoo และ Meta ยอมเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนและพยุงองค์กรให้อยู่รอด
ทุกประเทศเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อแบบที่ไม่เคยพบมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ
- เงินบาทไทยอ่อนสุดในรอบ 7 ปี
- เงินเฟ้อไทยต่ำติดอันดับ 9 ของโลก จาก 130 เขตเศรษฐกิจ
- เวเนซุเอลายังคงเงินเฟ้อพุ่ง 404% สูงสุดในโลก
- ปีนี้เป็นปีที่ราคาพลังงานสูงส่งผลต่อค่าครองชีพทั่วโลก ค่าไฟ และน้ำมันแพงขึ้น
ราชาแห่งคริปโต ‘แซม แบงก์แมน ฟรายด์’ (SBF) อดีตซีอีโอ FTX เว็บเทรดคริปโตชั้นนำของโลก ถูกตัดสินความผิดฐานฉ้อโกง 110 ปี
- เขามีสินทรัพย์มูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่อาณาจักรของเขาจะล่มสลายลงในที่สุด ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาของปีนี้
- ปีนี้เป็นปีที่เหรียญคริปโต Bitcoin, Ethereum, XRP ดีดตัวขึ้นมามีผลตอบแทนชนะหลายสินทรัพย์ทั่วโลก
- เกิดตลาดฟองสบู่ของ NFTs (Non-Fungible Tokens) กลายเป็นเพียงไฟล์ดิจิทัลที่ไม่เหลือมูลค่าเป็น ‘0’
สงครามปะทุขึ้นในตะวันออกกลาง
- อิสราเอลประกาศภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม สะเทือนความเชื่อมั่นตลาดทุน และนักลงทุนทั่วโลกเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด
- ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทันที 5% และ World Bank คาดการณ์ไว้ว่า หากเลวร้ายสถิติราคาน้ำมันจะสูงสุดถึง 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อินเดียแซงจีนขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
- นอกจากประชากรจะมากที่สุดในโลก อินเดียกำลังจ่อขึ้นแท่นประเทศเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก GDP จะโต 6.5% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เบียดแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในเอเชียภายในปี 2030
- สวนทางจีนที่เพิ่งเปิดประเทศเมื่อต้นปีหลังเจอพิษโควิด ทำให้ปีนี้อาจไม่ใช่ปีของจีน ภาวะเศรษฐกิจภายในซบเซา เกิดปรากฏการณ์ล้มละลายของบริษัทอสังหาที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจ ด้วยสาเหตุจากนโยบายการควบคุมการขยายตัวของหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวด ทำให้ผิดนัดชำระหนี้ เริ่มล้มละลาย ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Country Garden Holdings Co., Ltd.
ปีแห่งความเฉิดฉายของพลังงานสะอาด รถยนต์ EV
- สมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของวงการอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด และหลายประเทศเริ่มผลิตคาร์บอน ไฮโดรเจน เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
- กระแสเรื่องของรถยนต์พลังงานใหม่ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV จากประเทศจีนได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็น Mega Trend ของโลก สวนทางค่ายรถญี่ปุ่นที่มียอดขายลดลง เพราะคนที่ใช้รถยนต์ไฮบริดเปลี่ยนใจหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน และค่ายรถที่ถูกพูดถึงมากสุดคือ BYD จากจีน ที่ขณะนี้จ่อแซง Tesla ของอีลอน มัสก์ พร้อมผงาดสู่เบอร์ 1 EV โลก
- ภูมิรัฐศาสตร์โลกเกิดการแย่งชิงผู้นำห่วงโซ่อุปทาน แบตเตอรี่ และชิป
The Next Chapter 2024 รับมือ ‘โลกจัดระเบียบใหม่’
- สงครามตะวันออกกลางยืดเยื้อ อาจจุดชนวนวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคา พลังงานผันผวนและขยับขึ้น
- ความแปรปรวนของสภาพอากาศยังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
- ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังดำเนินต่อไป ทำให้ค่าครองชีพ น้ำมัน และค่าไฟแพง
- อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง
- Recession เศรษฐกิจโลกชะลอ
ไทยเตรียมรับมือ 4 ปรากฏการณ์ที่จะเห็นในปี 2567
- เศรษฐกิจและการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง แนวโน้มฟื้นตัวช้าลง สหรัฐอเมริกาน่าจะเผชิญโมเมนตัมเศรษฐกิจแผ่วลง (Soft Landing) เศรษฐกิจจีนกำลังซื้อยังอ่อนแอ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่นทั่วโลก ล้วนลดทอนกำลังซื้อในตลาดโลกและการส่งออกของไทย
- ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น โดยตลอดทั้งปี 2024 จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อินเดีย, รัสเซีย, อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ
- การบริโภคในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น โดยระดับรายได้ของครัวเรือนไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด
- เสถียรภาพเศรษฐกิจเปราะบางขึ้น คาดว่าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) จะออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ในไตรมาส 3 ของปี ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 0.4-0.7% ของ GDP ช่วยหนุนเศรษฐกิจขยายตัว 3.6% ในปีหน้า ท่ามกลางความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติจากเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่เปราะบางขึ้น
“โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่จะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากความไม่แน่นอนรอบด้าน หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกแผ่วลงกว่าคาด ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างจำกัด ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากกลไกสนับสนุนภาครัฐ”
อ้างอิง:
- ttb analytics