×

สุกี้ตี๋น้อย-ไมเนอร์ ฟู้ด ประสานเสียง ‘ต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูง’ กดดันทำให้ต้องปรับราคาขายเพิ่ม

29.12.2021
  • LOADING...
สุกี้ตี๋น้อย-ไมเนอร์ ฟู้ด

กลายเป็นข่าวที่แชร์กันอย่างคึกคักในโลกโซเชียลมีเดีย กับการที่ร้านบุฟเฟต์ชื่อดังอย่าง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ตัดสินใจปรับราคาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดมาได้ 4 ปี โดยเพิ่ม 20 บาท จาก 199 บาท เป็น 219 บาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

 

นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อยเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การปรับขึ้นราคามาจาก 2 เหตุผลหลักๆ คือ ต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“เรามั่นใจในอาหารของเรา แต่การทำธุรกิจมีมากกว่านั้น

โดยต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลับมาเปิดร้านได้อีกครั้งเมื่อ 3 เดือนก่อน วัตถุดิบหลายตัวขึ้นราคาแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เนื้อหมู 3 ชั้น จากราคา 130 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 210-220 บาท

 

ขณะที่วัตถุดิบนำเข้าอย่างปลาดอรีและหอยแมลงภู่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ส่วนการดำเนินงานนั้นเมื่อ 2 เดือนก่อนเพิ่งปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานไป 

 

“เราอยากคุมราคาให้ได้ แต่หลังจากที่เราคุยกับซัพพลายเออร์ในระยะเวลาอันสั้นนี้ราคายังไม่มีแนวโน้มจะลง มีแต่จะทรงตัวกับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้วัตถุดิบบางส่วนยังหายากและขาดตลาด ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นไปอีก เราจึงต้องปรับขึ้นราคา”

 

กระนั้นราคาที่ปรับเพิ่มมาอีก 20 บาท ก็ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงซึ่งเพิ่มนับ 100% แต่นัทธมนย้ำว่า อยากทำให้ร้านยังอยู่ในคอนเซปต์ที่คุ้มค่าคุ้มราคาจึงเพิ่มขึ้นไม่เยอะมาก ให้พอประคองร้านไปได้ก่อนแล้วค่อยไปจัดการกับต้นทุนอย่างอื่นแทน

 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบเป็นสิ่งที่กระทบหมดทั้งอุตสาหกรรมร้านอาหาร แม้แต่รายใหญ่อย่าง ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ ซึ่งเลือกที่จะใช้วิธีตรึงราคาแทน

 

กรีฑากร ศิริอัฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

 

“วัตถุดิบของเราเพิ่มขึ้นทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแดรี่ ทั้งนม เนย ชีส เนื้อสัตว์ และผัก ซึ่งรวมๆ แล้วเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% แม้เราจะใช้วิธีสั่งซื้อล่วงหน้าจำนวนมากและทำสัญญาแบบล็อกราคาไว้แล้วก็ตาม”

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมาจากการที่ผู้ผลิตบางส่วนส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถทำราคาได้ดีกว่า ดังนั้นสินค้าที่ขายภายในประเทศจึงน้อยลงไปด้วย ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่หลายคนมองว่าเป็นต้นเหตุของต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นนั้น กรีฑากรมองว่ามีส่วนแค่นิดเดียว

 

“แม้ต้นทุนจะเพิ่มแต่เราก็พยายามตรึงราคาขายไม่ให้เพิ่ม อย่างเมนูขายดีเราจะไม่เพิ่มเลย เพราะถ้าเพิ่มก็จะไปกระทบลูกค้าจำนวนมากที่มีปัญหาด้านกำลังซื้ออยู่แล้ว เราเลยเลือกที่จะไปเพิ่มในเมนูอื่นๆ แต่ไม่มากนัก ประมาณ 5-10 บาทต่อเมนู”

 

ถึงปีนี้จะไม่ได้เพิ่มราคาขายแต่ด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปี 2565 ไมเนอร์ ฟู้ดก็อาจจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับขึ้นราคา โดย “เราจะดูจังหวะที่เหมาะสมก่อนว่าควรเป็นช่วงไหน ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 50% ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราจะพยายามไม่ให้ขึ้นเยอะ ด้วยจะไปกระทบกำลังซื้อ” กรีฑากรกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising