สังเวียนสุกี้-ชาบูเมืองไทยมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทระอุยิ่งกว่าหม้อไฟ เมื่อทุกค่ายทุกแบรนด์ดาหน้ากระโจนลงสนาม ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แบรนด์เก๋าเจ้าตำรับ ยันน้องใหม่ไฟแรง ต่างช่วงชิงพื้นที่ในกระเพาะนักกินแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
ฟากฝั่ง ‘เบอร์หนึ่ง’ ที่คุ้นเคยอย่าง MK วันนี้กลับเผชิญ ‘พายุลูกใหญ่’ อาการ ‘แผ่วปลาย’ เริ่มปรากฏ แม้ทายาทรุ่นใหม่จะเข้ามาปลุกปั้น แต่ก็ยังเป็น ‘เครื่องหมายคำถามตัวโต’ ว่าจะกอบกู้บัลลังก์นำทัพแบรนด์อายุเกือบ 40 ปีฝ่าวิกฤตไปได้ไกลแค่ไหน
ทว่าท่ามกลางคลื่นลมแห่งการแข่งขันอันเชี่ยวกรากนี้ กลับมี ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่พร้อมใจกันประกาศศักดาด้วยตัวเลขการเติบโตแบบ ‘ก้าวกระโดด’ จนเป็นที่จับตาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ และ ‘ลัคกี้ สุกี้’ ที่กำลังกลายเป็น ‘ดาวเด่น’ แห่งสมรภูมินี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดใจเจ้าของ ‘ลัคกี้ สุกี้’ ใช้เวลา 3 ปี กวาดยอดขายแตะ 1,000 ล้านบาท โตเร็วจนนักลงทุนรายใหญ่รุมจีบ
- ครึ่งปีแรก ‘สุกี้ตี๋น้อย’ โกยกำไรไปแล้ว 610 ล้านบาท ส่วน JMART รับส่วนแบ่ง 183 ล้านบาท ส่งสัญญาณโตไม่หยุด
- หรือจะเป็นยุคตกต่ำของ MK เผยยอดขาย-กำไรสุทธิ 3Q67 ร่วง! เพราะกำลังซื้อหด แต่ยังบริหารต้นทุนได้ดี
- Hikiniku to Come แฮมเบิร์กเจ้าดังจากญี่ปุ่น เปิดที่ไทยวันแรก 15 ต.ค. เนื้อฉ่ำไม่แพ้ต้นฉบับ
‘สุกี้ตี๋น้อย’ ที่กำลังโตแบบ ‘ก้าวกระโดด’
และจากบรรดา ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่ประกาศศักดาในสมรภูมินี้ หนึ่งในชื่อที่โดดเด่นและสร้างแรงสั่นสะเทือนมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘สุกี้ตี๋น้อย’ แบรนด์บุฟเฟต์สุกี้ราคาคุ้มค่า ที่เพิ่งเปิดเผยผลกำไรประจำปี 2567 ที่กวาดตัวเลขไปมากถึง 1,169 ล้านบาท
ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางธุรกิจของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ที่เพิ่งเปิดตัวมาเพียง 6 ปี จะพบว่าแบรนด์นี้มีการเติบโตแบบ ‘ก้าวกระโดด’ อย่างแท้จริง จากรายได้ 499 ล้านบาทในปี 2562 สู่ 5,244 ล้านบาทในปี 2566 และจากกำไร 15 ล้านบาท ทะยานสู่ 913 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน!
กำไรที่แตะพันล้านบาทเป็นครั้งแรกนี้ถูกเปิดเผยผ่านผลประกอบการของ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุถึงปีที่ผ่านมาว่า ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นสุกี้ตี๋น้อยในสัดส่วน 30% (จากการลงทุน 1,200 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2565) เท่ากับ 350.7 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิรวม 1,169 ล้านบาท
ในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ระบุด้วยว่า สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 78 สาขา, ตี๋น้อย บาร์บีคิว (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 1 สาขา และตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส (บุฟเฟต์พรีเมียม) 1 สาขา
โดยในปี 2567 สุกี้ตี๋น้อยเปิดสาขาเพิ่มขึ้นจำนวน 23 สาขา และสาขาที่เปิดเพิ่มมีส่วนหนึ่งที่เริ่มขยายออกไปต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี, ระยอง, สุพรรณบุรี, มหาสารคาม, อุดรธานี และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทำเลที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างหนาแน่น
การมีร้านยังไม่ถึง 100 สาขา เมื่อเทียบกับพี่ใหญ่ที่วันนี้แตะตัวเลข 400 กว่าสาขา แสดงให้เห็นว่าสุกี้ตี๋น้อยยังสามารถเติบโตไปได้อีกมากในแง่ของการขยายสาขา เพราะส่วนใหญ่แล้วสุกี้ตี๋น้อยไม่ได้ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า แต่ไปตั้งในคอมมูนิตี้มอลล์หรือสแตนด์อโลน ทำให้ไม่ถูกจำกัดในแง่ของทำเล
ยิ่งมีเจมาร์ทหนุนหลังก็เหมือนมีสายป่านเส้นหนาที่ช่วยให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องกลัวเรื่องเงินทุนที่ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ต้องกังวล
‘ลัคกี้ สุกี้’ แค่ 3 ปีโกยเงินพันล้าน!
แต่ไม่ใช่เพียง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ เท่านั้นที่สร้างปรากฏการณ์ในตลาดสุกี้-ชาบู อีกหนึ่งแบรนด์น้องใหม่ที่มาแรงไม่แพ้กัน และกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ ‘ลัคกี้ สุกี้’ ร้านบุฟเฟต์สุกี้ราคาคุ้มค่าที่เปิดตัวมาเพียง 3 ปี แต่กลับสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วมากกว่า 20 สาขา และกวาดยอดขายไปถึง 1 พันล้านบาท!
ดีกรีความร้อนแรงของ ‘ลัคกี้ สุกี้’ ไม่ได้หยุดอยู่แค่สุกี้หม้อเดือด ในช่วงเวลาเดียวกันได้ ‘แตกไลน์’ ขยายอาณาจักรสู่เตาปิ้งย่างด้วยแบรนด์น้องใหม่ ‘ลัคกี้ บาร์บีคิว’ ที่มาพร้อมคอนเซปต์คุ้มค่าและเป็นทางเลือกใหม่ ในราคาเริ่มต้นเพียง 299 บาท สูงกว่า ‘พี่ใหญ่’ สุกี้เล็กน้อย โดยปัจจุบันเปิดไปแล้ว 5 สาขา
สำหรับปีมะเส็งนี้ลัคกี้ สุกี้ เตรียมอัปเกรดอาณาจักรสุกี้-ปิ้งย่างด้วยเป้าหมาย ‘ขยายสาขาไม่ยั้ง’ ขั้นต่ำ 16-20 สาขา บุกตะลุยทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล เน้นคอมมูนิตี้เป็นหลัก เพื่อกลุ่มเป้าหมาย ‘ตัวจริง’ ชนิดที่ว่าเดินไปทางไหนก็ต้องเจอ ‘ลัคกี้’
และที่บิ๊กเบิ้มเหนืออื่นใด ‘ลัคกี้ สุกี้’ ไม่ได้หยุดแค่รายได้หลักพันล้านบาท แต่วางเป้าหมายใหม่ด้วยการติดนามสกุลมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะยังไม่รู้ว่าฤกษ์งามยามดีที่ว่าจะมาถึงเมื่อไร แต่ตอนนี้ก็แย้มว่ามีนักลงทุนรายใหญ่ๆ สนใจเข้ามาจีบอย่างคึกคัก
ลัคกี้ สุกี้ ย้ำชัด หากจะเลือกใคร ‘เงินไม่ใช่ใบเบิกทาง’ สิ่งสำคัญกว่าคือ ใจที่ใช่และแผนที่ลงตัวจึงจะ ‘ติดปีก’ ให้แบรนด์ ‘ทะยานไกล’ กว่าที่เคยเป็น
พี่ใหญ่ที่กำลัง ‘อ่อนล้า’
เมื่อหันกลับมามองพี่ใหญ่อย่าง MK ซึ่งจะไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ เพราะจะเห็นได้ว่าเมื่อมองเฉพาะผลประกอบการที่รายงานออกมาแล้วจะเห็นภาพของความอ่อนล้าอย่างชัดเจน
ในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2567 มีการรายงานว่ามีรายได้จากการขายจำนวน 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 341 ล้านบาท ลดลง 48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นกำไรที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาสตามบทวิเคราะห์ของ บล.พาย ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า ผลงานไตรมาส 4 ปี 2568 ในแง่ของกำไรสุทธิจะลดลง 11% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5
นักวิเคราะห์ต่างมองว่า การเติบโตในอนาคตของเครือ MK จะไม่ได้มาจากธุรกิจเดิมๆ แต่หากเป็นแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่พอร์ตเช่น Hikiniku To Come (ร้านแฮมเบิร์กที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น) ที่เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
กระนั้นภาพความหวังในการฟื้นฟูของ MK ให้กลับผงาดอีกครั้งเริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เมื่อมีการแต่งตั้ง ‘ทานตะวัน ธีระโกเมน และ ธีร์ ธีระโกเมน’ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) และให้รายงานตรงต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่าง ‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ‘ฤทธิ์’ ผู้ปลุกปั้น MK ได้ระบุถึงทิศทางในการบริหารที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ทายาท โดยครั้งนั้นฤทธิ์ไม่เผยว่าจะเลือกใครขึ้นมา แต่สุดท้ายก็เลือกจะตั้งทั้งคู่แทน
ภาพของตัวเลขรายได้ว่าจะฟื้นตัวแค่ไหนยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ ในแง่ของ ‘ภาพลักษณ์’ ตัว MK ได้กลับเข้าสู่สายตาของลูกค้าอีกครั้งนับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปี 2568 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ‘เทศกาลตรุษจีน’ ที่ทาง MK ได้ตัดริบบิ้นเปิดตัวแคมเปญที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งการเปลี่ยนป้าย MK Restaurants เป็น MongKol Restaurants ในรอบ 39 ปี กับ 4 สาขา และหมี่หยกยืนยาว 99 เซนติเมตร ที่ระบุว่าช่วยสร้างยอดขายเติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อด้วยการเขย่าวงการธุรกิจค้าปลีกกับ ‘ชุดบะหมี่หยกลูกชิ้นรวมมิตร’ ราคา 69 บาท เพิ่มช่องทางการขายใน 7-Eleven และตบท้ายด้วยคอนเทนต์น้ำจิ้มสุกี้ สร้างไวรัล ป่วนทุกวงการ
“ทั้งหมดนี้สามารถปลุกกระแสของแบรนด์และได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคบนโลกโซเชียล อีกทั้งยังดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง” ทานตะวัน ธีระโกเมน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุ
แม้การเคลื่อนไหวของ MK ในวันนี้จะเป็นเพียงแค่การ ‘ขยับ’ เพื่อ ‘ปรับ’ กลยุทธ์ครั้งใหญ่ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณสำคัญของการเอาคืนในสมรภูมินี้ หลังจากที่แผ่วปลายไปในช่วงก่อนหน้า
ทายาทรุ่นใหม่กำลังท้าทายแรงเฉื่อยของยักษ์ใหญ่อายุเกือบ 40 ปี ให้กลับมายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่สุดท้ายแล้วบทพิสูจน์ที่แท้จริงยังคงอยู่ที่ ‘กาลเวลา’ และ ‘ความเชื่อมั่น’ ของลูกค้าที่จะตัดสินว่า MK จะ ‘ทวงบัลลังก์’ กลับคืนมาได้สำเร็จหรือไม่
เรื่องราวของสุกี้ตี๋น้อย, ลัคกี้ สุกี้ และ MK ในวันนี้ เป็นเสมือน ‘สัญญาณเตือน’ ดังๆ ถึงผู้เล่นทุกรายในตลาดว่า ภูมิทัศน์ธุรกิจสุกี้-ชาบู ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต ยุคสมัยแห่งการช่วงชิงความเร็ว ความสดใหม่ และความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว รวมถึงใครที่ปรับตัวได้เร็วกว่าและดีกว่าคนนั้นย่อม ‘กุมขุมทรัพย์’ มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทไปครอง
และมิใช่แค่ครองเพียง ‘ชั่วคราว’ แต่คือการปักธงความเป็น ‘เจ้าตลาด’ ในอาณาจักรที่หอมหวานและท้าทายที่สุดแห่งหนึ่งของวงการธุรกิจร้านอาหารเมืองไทย