ราคาน้ำตาลพุ่งแตะสูงสุดรอบ 6 ปี หลังจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก บ่งชี้ว่าโลกกำลังออกจากยุคน้ำตาลล้นตลาดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลายฝ่ายจับตา Food Inflation จ่อทะยานต่อ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี เสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อด้านราคาอาหาร (Food Inflation) ทะยานต่อเนื่อง เนื่องจาก น้ำตาลนับเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เบเกอรี ลูกอม และน้ำอัดลม
ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่าง ‘บราซิล’ คาดว่าจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้จนกว่าจะถึงเดือนเมษายน ทำให้ตลาดกำลังตึงตัวมากในขณะนี้
โดยผลผลิตที่อ่อนแอก่อนหน้านี้ยังมีแนวโน้มที่จะบีบบังคับให้ ‘อินเดีย’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ต้องจำกัดการส่งออกน้ำตาล ขณะที่การผลิตในยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก่อนหน้านี้ ตอนนี้ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หลังจากมีคำสั่งห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืช
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาคมโรงงานน้ำตาลของอินเดียปรับลดแนวโน้มการจัดส่งลงเหลือประมาณ 6 ล้านตันในฤดูกาลนี้ หลังจากสภาพอากาศเลวร้ายส่งผลกระทบต่อผลผลิต นอกจากนี้ การส่งเสริมการผลิตเอทานอลอาจทำให้อ้อยจำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแทน เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้น หลังจากการเปิดโรงงานอีกครั้งของจีน
Michael McDougall กรรมการผู้จัดการจากบริษัทหลักทรัพย์ Paragon Global Markets กล่าวว่า การเปิดประเทศของจีนน่าจะกระตุ้นความต้องการน้ำตาล โดยบริษัทอาหารต่างๆ ที่ตุนน้ำตาลไว้แล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็กำลังแย่งชิงอุปทานที่จำกัด
ความตึงตัวในตลาดนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ในประเทศผู้นำเข้าชั้นนำอย่าง อินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล “อาจต้องหันไปหาน้ำตาลของบราซิลและออสเตรเลียเพื่ออุดช่องว่างจากอินเดีย” สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลอินโดนีเซียกล่าว
ด้าน Somit Banerjee หัวหน้าฝ่ายการค้าจาก Al Khaleej Sugar Co. โรงงานน้ำตาลในดูไบ กล่าวว่า การเก็งกำไรที่มากเกินไปทำให้ราคาน้ำตาลพุ่งขึ้น ดังนั้นหากการเก็งกำไรส่วนเกินนี้จบลงราคาก็อาจลดลงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตรึงราคาไม่ไหว! ‘ลีโอ’ ขึ้นราคา 1-1.5 บาทต่อขวด ส่วน ‘ช้าง’ เพิ่มขวดแก้วอีก 1 บาท ฟากน้ำตาลกำลังจะขึ้น หวั่นทำสินค้าอื่นๆ ขยับตัวตามอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
- ขึ้นราคาสินค้าอีกรอบ! ‘P&G’ ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ ปรับราคารับต้นทุน-ดอลลาร์แข็ง แม้อาจกระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค
- ไปญี่ปุ่นเตรียมควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 7,000 รายการจ่อขึ้นราคาอีกระลอก รับเงินเยนอ่อนค่าดันต้นทุนพุ่ง
อ้างอิง: