×

สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงมติถอดถอน ‘สืบพงษ์ ปราบใหญ่’ พ้นเก้าอี้อธิการบดี รอบ 2

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2022
  • LOADING...
สืบพงษ์ ปราบใหญ่

วานนี้ (8 พฤศจิกายน) สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกแถลงข่าว ฉบับที่ 1 เรื่อง การถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดี ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ภายหลังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาผลการสอบสวนเรื่องที่ ผศ.สืบพงษ์ ถูกร้องเรียนว่าอาจเข้าข่ายกระทำความผิด และมีคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน จึงมีมติถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี และเห็นควรแจ้งให้ประชาคมมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกภาคส่วนรับทราบข้อเท็จจริงตรงกัน ดังนี้

 

ด้วยเหตุที่ตำแหน่งอธิการบดีเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมควรที่จะต้องยึดถือคุณลักษณะของผู้บริหารที่พึงประสงค์ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดีให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร ตลอดจนนักศึกษา ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน อันเป็นการธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง และหลักธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

แต่ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ และระเบียบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562 ด้วยพฤติการณ์ดังต่อไปนี้

 

  1. ผศ.สืบพงษ์ ได้ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ในการสมัครเข้าบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ โดยสำนักงาน ก.พ. ได้รายงานให้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงทราบว่า จากการตรวจสอบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกของ ผศ.สืบพงษ์ ปรากฏว่าไม่พบข้อมูลระดับปริญญาเอก รายละเอียดปรากฏตามหนังสือลับจากสำนักงาน ก.พ. ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

ทั้งนี้ การใช้คุณวุฒิการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. รับรองถือเป็นคุณสมบัติสำคัญตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2551 ข้อ 20.1 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2556 ข้อ 26 (1) ที่กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ สามารถได้รับค่าจ้างตามคุณวุฒิ และตามที่ ก.พ. กำหนด 

 

จึงหมายความว่า คุณวุฒิของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ที่จะได้รับค่าจ้างตามอัตราเงินเดือนที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ต้องเป็นคุณวุฒิที่สำนักงาน ก.พ. รับรองเท่านั้น และจากบทบัญญัติในข้อบังคับฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณวุฒิการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. รับรองถือเป็นคุณสมบัติประการสำคัญในการบรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้บรรจุบุคคลให้ตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย รวมทั้งจะต้องเป็นคุณวุฒิจากหลักสูตรการศึกษาที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์สากล เพื่อให้การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒินั้นเหมาะสมและเป็นธรรม

 

ดังนั้น การที่สำนักงาน ก.พ. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบคุณวุฒิการศึกษาสำหรับผู้ที่จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ หรือพนักงานราชการในหน่วยงานของรัฐ ประกอบกับข้อบังคับของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังยึดโยงอยู่กับสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการรับรองคุณวุฒิการศึกษา กรณีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาเอกของ ผศ.สืบพงษ์ ย่อมมีมูลรับฟังได้ว่า ผศ.สืบพงษ์ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มาตั้งแต่ต้น และจะไม่มีผลงานการสอน หรือมีประสบการณ์ด้านบริหารที่จะมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541

 

  1. ผศ.สืบพงษ์ ได้ทำการรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ จาก ‘นาย ส’ โดยการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าว เป็นการรับโอนที่ดินจำนวน 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 52022 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และที่ดินโฉนดเลขที่ 52023 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ซึ่ง ผศ.สืบพงษ์ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว และการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ‘นาย ส’ กรณีมีเหตุควรเชื่อว่า ‘นาย ส’ ร่ำรวยผิดปกติแล้ว และในท้ายที่สุด ผศ.สืบพงษ์ ได้ถูกศาลฎีกาพิพากษายึดที่ดินดังกล่าวทั้ง 2 แปลง ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาฎีกา ที่ 469/2561

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นฯ ที่แต่งตั้งโดยสภา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังได้ตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ผศ.สืบพงษ์ ไม่ได้นำส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงตามคำพิพากษาศาลฎีกา จนล่วงเลยระยะเวลามาประมาณ 2 ปีเศษ 

 

กระทั่งกระทรวงการคลังได้ยื่นคำขอโอนตามกฎหมาย โดยขอออกโฉนดใบแทน และได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโอนให้กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผศ.สืบพงษ์ ทั้งในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง และต่อมาดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ตลอดจนกระทั่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปัจจุบัน กลับไม่เคยรายงานให้มหาวิทยาลัยได้ทราบถึงเรื่องราวดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ และคุณสมบัติต้องห้ามของผู้บริหาร และเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนละเมิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 39 วรรคท้าย

 

และมาตรา 40 รวมทั้งพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่า ก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน ซึ่งถือเป็นความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และมีอายุความ 15 ปี

 

  1. ผศ.สืบพงษ์ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องขอความเป็นธรรมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จงใจบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสีกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยการตัดแต่งข้อมูลอย่างปราศจากมโนสำนึก ขาดความรับผิดชอบ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินการตรวจสอบ หรือสอบสวนเรื่องต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน

 

กรณีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น สืบเนื่องจาก ผศ.สืบพงษ์ ได้เคยถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมาครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยข้อหาจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 

 

แต่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิมด้วยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด แต่ ผศ.สืบพงษ์ ยังจงใจใช้สิทธิซ้ำซ้อนในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง อย่างไรก็ตาม สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของ ผศ.สืบพงษ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้วว่า รายละเอียดของการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งนั้นเป็นเช่นไร

 

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น หากคำนึงถึงเกียรติของตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องมีภาวะผู้นำ และเป็นที่ยอมรับของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ด้วยการยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง และความเป็นธรรมในสังคม ประกอบกับความรังเกียจของสังคมต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ ย่อมถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวของ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าข่ายเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี อันเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารตามข้อ 7 (4) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ. 2562

 

ดังนั้น พฤติการณ์ทั้งหมดข้างต้นของ ผศ.สืบพงษ์ ประกอบกับข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่ปรากฏ ย่อมเพียงพอต่อการที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไม่ไว้วางใจให้ ผศ.สืบพงษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกต่อไป และสมควรที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีมติให้ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันลงมติเป็นต้นไป อันเป็นการใช้อำนาจ และดุลพินิจโดยแท้ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามมาตรา 18 (7) แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 และเป็นเหตุให้ ผศ.สืบพงษ์ พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีโดยทันที ตามมาตรา 23 วรรคสาม (6) แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising