วันนี้ (8 เมษายน) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน ในหัวข้อ ‘การจัดการน้ำเสีย และขยะในกรุงเทพมหานคร’ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายคณาจารย์นิสิตนักศึกษาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมประเทศไทย และภาควิชาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
โดยสุชัชวีร์ระบุว่า สาเหตุหลักของน้ำเน่าเสียไม่ใช่ขยะ แต่เกิดจากการจัดการน้ำเสียส่วนหนึ่งและการไหลเวียนของน้ำอีกส่วนหนึ่ง โดยจากการลงพื้นที่มาครบทั้ง 50 เขต พบว่าหลายคลองใน กทม. มักจะปล่อยให้น้ำนิ่ง เมื่อน้ำนิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ประกอบกับมีการปล่อยน้ำเสียที่มีคราบน้ำมันเคลือบผิวน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถผันออกซิเจนได้จนทำให้น้ำเกิดเน่า และยิ่งปล่อยให้เน่าเสียเป็นเวลานานก็จะเกิดก๊าซและสารพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อยู่อาศัยรอบๆ คลอง
ทั้งนี้ สุชัชวีร์ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 2 ระยะ คือ ‘ระยะเร่งด่วน’ และ ‘ระยะยาว’ ดังนี้
- ระยะเร่งด่วน ต้องแก้ให้น้ำมีการเคลื่อนไหว โดยคำนวนจากระดับน้ำขึ้น-น้ำลง และต้องมีระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เพื่อผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลำคลอง และเมื่อน้ำลงก็ส่งน้ำจากคลองลงสู่ทะเล
- ระยะยาว ต้องจัดการระบบการบำบัดน้ำเสีย เพราะปัญหาขณะนี้คือ หลายแห่งมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ท่อส่งน้ำเสียจากครัวเรือนกลับส่งไปไม่ถึง และในหลายพื้นที่ หลายชุมชน มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยตรง ดังนั้นจึงต้องจัดการให้น้ำเสียเหล่านี้ถูกส่งไปให้ถึงระบบบำบัด พร้อมกับจัดให้มีการบำบัดน้ำเสียในชุมชนด้วย
สุชัชวีร์กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขณะนี้ไม่มีการสำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของแม่น้ำ ลำคลอง และตนพบว่ามีคลองบางแห่งสูญหายไปแล้วจากการลักลอบถมที่ และคลองบางแห่งไม่มีชื่อ หรือแม้กระทั่งปริมาตรความจุของคลอง ทั้งลักษณะความกว้าง ความยาว ความลึก เมื่อเราไม่รู้สิ่งเหล่านี้ การจัดการน้ำในอนาคตจะทำได้ยาก ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยหลักวิศวกรรม และจำเป็นต้องมีข้อมูล ไม่ใช่คิดเอาเองว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะการทำแบบนั้นช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้