×

อนุ กมธ.ขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ จี้ กทม. ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ แก้ฝุ่น PM2.5

โดย THE STANDARD TEAM
22.01.2025
  • LOADING...

วันนี้ (22 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการ

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาและรับฟังข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การจัดทำแผนลดฝุ่นและแผนบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ตลอดจนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการเสนอกรณีศึกษาการดำเนินการของต่างประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้กรุงเทพมหานครพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยขอให้กรุงเทพมหานครยึดหลักปฏิบัติเหมือนประเทศเกาหลีใต้ คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าเงินตราที่เสียไป (The value of human beings is far greater than that of money.)

 

คณะอนุกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะให้พิจารณามาตรการปิดไซต์ก่อสร้าง เพื่อเป็นการกดดันรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำในทางอ้อม และติดตั้งป้ายเตือนค่าฝุ่น PM2.5 ในบริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ และทางเข้าสวนสาธารณะทุกแห่ง เพื่อให้เป็นมาตรการระยะสั้น และสำหรับมาตรการระยะยาว จากที่มีการประกาศกำหนดเขตมลพิษต่ำ Low Emission Zone ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23-24 มกราคม 2568 นั้น คณะอนุกรรมาธิการขอให้ปรับหลักเกณฑ์ให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงรุกมากกว่านี้

 

สำหรับเรื่องการปิดโรงเรียน คณะอนุกรรมาธิการตั้งคำถามว่า โรงเรียนที่ปิดไปแล้วมีการเรียนออนไลน์หรือไม่ หรือไม่มีการเรียนการสอนเลย ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ในบางโรงเรียนมีการเรียนออนไลน์ และในบางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนชดเชยได้ ซึ่งกรณีนี้หากกรุงเทพมหานครออกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ จะสามารถแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าให้เตรียมความพร้อมและแผนรับมือ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเรียน

 

นอกจากการพิจารณาปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครแล้ว คณะอนุกรรมาธิการยังพิจารณาการดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้การดำเนินโครงการยังมีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากมีการปรับแบบของโครงการใหม่ และภายหลังเหตุการณ์ทางยกระดับทรุดตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว เป็นเงินจำนวน 8,280,886 บาท สำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดำเนินการเยียวยาเสร็จสิ้นแล้ว 356 ราย คงเหลือ 25 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจา

 

คณะอนุกรรมาธิการยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม กรณีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโรยัล ปาร์ค วิลล์ ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมาธิการรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ได้แนะนำให้ผู้ร้องประสานงานกับกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารประกอบการยื่นคำขอจัดตั้งนิติบุคคลให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แล้วจึงยื่นคำขอจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรอีกครั้ง

 

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาคือปัญหาที่อยู่อาศัยของข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารสงเคราะห์ไม่เคยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมทั้งระบบ จึงเป็นเหตุให้โครงสร้างอาคารชำรุดทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพ เกิดท่อรั่ว ท่อแตก ระบบความปลอดภัยใช้การไม่ได้ และมีห้องพักชำรุด ไม่สามารถจัดคนเข้าพักอาศัยได้กว่า 1,000 ห้อง

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าหากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทั้งระบบ จะส่งผลให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงและซ่อมแซมอาคารสงเคราะห์ สามารถนำรายรับไปปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พักอาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัยให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ขึ้นบัญชีรอเข้าพักอาศัยกว่า 1,000 ครอบครัว ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมีแรงขับเคลื่อนและมุ่งมั่นในการปฏิบัติราชการให้แก่กรุงเทพมหานครอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป

 

เกรียงยศ สุดลาภา สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งถือว่าหนักที่สุด สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งได้รับผลกระทบมาก สิ่งที่คณะอนุกรรมการได้รับทราบจากการแถลงข่าวของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการออกมาตรการที่เข้มข้นที่จะรักษาสุขภาพของประชาชน หรือมีมาตรการที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนเรื่องฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร

 

จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งเคยประกาศใช้แล้วเมื่อปี 2562 เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ในสมัยนั้นถือว่าวิกฤตพอสมควร แต่ยังไม่ถึงขนาดปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ข้อสำคัญอาจเป็นการแก้ไขปัญหาในปลายเหตุ แต่ต้นเหตุก็ควรจะมีมาตรการอื่นๆ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะแก้ไข

 

ผ่านมา 2 ปีแล้วที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2565 ได้ขึ้นเวทีเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น ซึ่งทราบสาเหตุทุกอย่างว่าจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่รอให้เห็นคืออยากให้ประกาศกฎหมายพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งคาดว่าจะไม่รบกวนการกระตุ้นเศรษฐกิจนานเกินไป ถือเป็นการให้อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจเต็มในการปิดสถานประกอบการ ไซต์ก่อสร้าง และโรงเรียน เป็นการชั่วคราว 2-3 วัน ซึ่งโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กเล็กจะได้รับผลกระทบมาก ถือเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีในการประกาศเขตพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญแค่เพียงบางพื้นที่

 

เช่นกันกับการใช้ยาแรงกรณีที่จะกำกับดูแลไซต์ก่อสร้าง เช่น หากมีรถบรรทุกที่ควันดำมาก ก็ให้ปิดไซต์ก่อสร้างทันที ถือเป็นมาตรการที่ต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ส่วนการปิดโรงเรียนเด็กเล็ก ถึงแม้ว่าจะปิดโรงเรียนในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูง และเป็นพื้นที่เขตสีแดง ก็มีการเรียนออนไลน์ให้กับเด็ก และประกาศล่วงหน้าให้ผู้ปกครองเตรียมความพร้อม

 

“สิ่งที่เรียกร้องและอยากเห็นคือความเข้มงวด เข้มแข็ง และเอาจริงเอาจัง ในการทำงานเชิงรุกของกรุงเทพมหานคร” เกรียงยศกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising