จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สวนดุสิตโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,132 คน ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2561 พบว่า
ประชาชน 55.03% ไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาวิกฤตจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้สำเร็จ โดยให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาใหญ่ มีมานาน แก้ไขไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล คนไทยไม่เคารพกฎหมาย ระบบขนส่งมวลชนไม่รองรับการเดินทางของประชาชน ถนนหนทางไม่เป็นระบบ รถมีปริมาณมาก ฯลฯ
ขณะที่อีก 22.97% ระบุว่าไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะไม่รู้รายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจต้องใช้เวลานาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใช้รถใช้ถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตำรวจจราจร ฯลฯ
ส่วนอีก 22% ระบุว่าคาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาจราจรสำเร็จ เพราะเป็นรัฐบาลที่เด็ดขาด สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ มีความตั้งใจในการแก้ปัญหา หากทำสำเร็จจะเป็นผลงานที่โดดเด่นของรัฐบาล
สำหรับกรณีที่รัฐบาลเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แก้ไขกฎหมายจราจรเพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิด เช่น ไม่มีใบขับขี่ หรือมีใบขับขี่แล้วไม่พก ประชาชนส่วนใหญ่ 53.71% ระบุว่าช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัญหาจราจรเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก เกิดจากความประมาท ขาดวินัย ฝ่าฝืนกฎจราจร ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี ทำให้คนนิยมใช้รถส่วนตัว รถมีปริมาณมากกว่าถนน ส่วนอีก 23.41% ระบุว่าการเพิ่มโทษจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะทำให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวกฎหมาย มีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง อาจช่วยลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุได้ ส่วนอีก 22.88% ระบุว่าไม่แน่ใจ
ด้านวิธีการแก้ไขปัญหาจราจรให้เป็นรูปธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ 51.17% ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทำตามกฎหมาย ผู้ใช้รถใช้ถนนมีจิตสำนึก มีวินัย รองลงมา 36.68% ให้ความเห็นว่าต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ค่าโดยสารไม่แพง เพื่อให้บริการแก่ประชาชน และอันดับ 3 คิดเป็น 34.07% ของผู้ตอบแบบสอบถามเสนอว่าให้มีมาตรการควบคุมจำนวนรถยนต์ จำกัดจำนวนรถยนต์ที่ครอบครอง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: