วันนี้ (23 พฤษภาคม) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี ‘การฉีดวัคซีนโควิด-19’ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,644 คน สำรวจวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนพอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ร้อยละ 57.41 รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี ร้อยละ 29.32 โดยร้อยละ 56.49 ได้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนให้ตนเองหรือคนในครอบครัวแล้ว
แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือมากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข อสม. และหน่วยงานราชการ ร้อยละ 31.02 โดยเชื่อมั่นวัคซีนของ Pfizer มากที่สุด ร้อยละ 75.11 รองลงมาคือ Moderna ร้อยละ 72.14 Johnson & Johnson ร้อยละ 68.52 AstraZeneca ร้อยละ 65.89 และ Sputnik V ร้อยละ 61.89
ทั้งนี้ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ร้อยละ 59.64 โดยอยากให้กลุ่มแพทย์ออกมาชี้แจง ร้อยละ 67.74 และตัดสินใจว่าจะไปฉีดวัคซีน ร้อยละ 64.39
ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น เพราะยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูง รวมถึงผู้เสียชีวิตก็มากกว่าการระบาดในรอบก่อนๆ จะเห็นได้ว่าประชาชนติดตามข่าวและเชื่อถือข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และภาครัฐด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียง ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนยังกังวลมากเป็นอันดับหนึ่ง และเร่งกระบวนการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนต่อวันมากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศนั้นผ่อนคลายโดยเร็ว
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้ สะท้อนได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อาจเป็นเพราะการเข้าถึงสื่อข้อมูลออนไลน์ ผ่านทางโทรทัศน์ หรือในต่างจังหวัดเป็นเสียงตามสาย อสม. ฯลฯ รวมถึงการเข้าถึงงานวิจัย บทความวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์
โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ประชาชนทั่วโลกได้รับการวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 1,515 ล้านโดส ใน 197 ประเทศ/การปกครอง และยังพบว่าวัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 90 และลดความรุนแรงของการเกิดโรค ทั้งนี้ ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัวก่อน ขณะ และหลังการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัด ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: