คุณรู้ไหมว่าแจกันใบนี้ถูกดีไซน์มาจากคลื่นสมองของมนุษย์
นี่คือผลงานชิ้นใหม่จาก José de la O สตูดิโองานออกแบบในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ที่จับมือกับ Mirai Innovation จากประเทศญี่ปุ่น นำเทคโนโลยีมาดัดแปลงใช้กับการดีไซน์ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีทักษะเรื่องการออกแบบก็สามารถจินตนาการแจกันออกมาได้
การทดลองนี้เกิดขึ้นโดยเครื่องมือที่เรียกว่า Aura ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะรับสัญญาณคลื่นสมอง มีเซนเซอร์เพื่อจับสัญญาณ Bio-signals ซึ่งปกติแล้วทาง Mirai ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้สำหรับวงการการแพทย์ การศึกษา และงานในเชิงธุรกิจ และนี่นับเป็นงานแรกที่พวกเขาได้จับงานแขนงการออกแบบ
ในระหว่างการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองสองคนนั่งอยู่ในห้องเปล่าๆ ที่ไม่มีอะไรมากวนสมาธิหรือความคิด ไม่มีสิ่งของตัวอย่างมาชี้นำ และพวกเขายังเป็นบุคคลที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องงานดีไซน์ และใช้สมาธิหรือเพ่งความคิดเพื่อส่งให้คลื่นสมองออกแบบแจกัน โดยจินตนาการตั้งแต่เรื่องความสูงหรือรูปร่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น โดยขณะที่เครื่อง Aura จับสัญญาณ Bio-signals ทีมงานที่อยู่อีกห้องนำข้อมูลดังกล่าวเติมเข้าไปในโปรแกรมที่มีรูปร่างของแจกันทั่วๆ ไปเป็นตัวอย่างเก็บไว้ และค่อยๆ ร่างรูปจากรูปแบบที่มีอยู่ให้สอดคล้องไปกับคลื่นสมอง ซึ่งการเพ่งสมาธิหรือการผ่อนคลายความกังวลใจมีส่วนที่ทำให้ความสูง รูปร่าง และขนาดของแจกันเปลี่ยนไปตามความคิด
“หลังจากนี้การเรียนรู้เรื่องงานฝีมือ งานประดิษฐ์ โปรแกรมสามมิติ หรืองานสเกตช์อาจไม่จำเป็นสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกก็เป็นได้” José de la O กล่าวถึงการร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมนี้ ซึ่งมันทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหากสามารถดีไซน์ผลิตภัณฑ์สักอย่างได้อย่างใจนึกก็คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างแท้จริงกับการรังสรรค์ความคิดในหัวของมนุษย์สักคนให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ
การทดลองนี้ José de la O ยังบอกอีกว่าเขาตั้งใจสร้างให้ส่งผลในระยะยาว เพราะถ้าหากมนุษย์สามารถดีไซน์สิ่งของของพวกเขาได้เองในแบบที่พวกเขาอยากจะได้จริงๆ ก็คงเป็นเรื่องที่ดี และบทบาทของดีไซเนอร์ที่ในปัจจุบันอาจจะต้องทำการออกแบบจากพื้นฐานของรสนิยมของตัวเอง หรืออาจจะผลิตเพื่อเป็นหนึ่งในการตลาดของแบรนด์ต่างๆ งานทดลองนี้จะสร้างให้งานดีไซน์มีความหลากหลาย ทั้งยังรังสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ไม่รู้จบ
ลองดูการทดลองนี้ เห็นแล้วก็น่าตื่นเต้น!
อ่านเรื่อง 7:1 คอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์ของไทยสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ชนะรางวัล Cannes Lions ได้ที่นี่
ภาพ: Courtesy of Studio José de la O
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: