×

Studio Ghibli ในวันที่ต้อง ‘ขายกิจการ’ เพราะไม่มีคนรับช่วงต่อ แล้วจิตวิญญาณกับตัวตนของสตูดิโอที่ทุกคนรักจะเปลี่ยนไปหรือไม่?

08.10.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • การที่ผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มีอายุถึง 82 ปีแล้ว ส่วน โทชิโอะ ซูซูกิ ก็มีอายุถึง 75 ปี Studio Ghibli ก็ประสบ ‘ปัญหาในเรื่องของการหาผู้สืบทอด’ ปัญหาดังกล่าวของสตูดิโอนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขาตระหนักถึงปัญหานี้มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว
  • หนึ่งในคนที่ถูกคาดหมายมาตลอดว่าจะรับช่วงต่อจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ คือ โกโร มิยาซากิ บุตรชายคนโต ผู้เดินตามรอยของพ่อในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ได้ปฏิเสธไป
  • สิ่งที่ทำให้ผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับการโค้งคำนับจากโลก มาจากความทุ่มเทในการทำงานของทุกคนที่ทำงานกันอย่างหนัก ถวายทั้งชีวิตและจิตใจลงไปในผลงาน โดยเฉพาะมิยาซากิที่ใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ยอมลดราวาศอกในเรื่องของการทำงานแม้แต่น้อย
  • Nippon Television (Nippon TV) มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานกับ Studio Ghibli ทำให้มั่นใจได้ว่าจะเคารพในคุณค่าของสตูดิโอ และสามารถช่วยปกป้อง Studio Ghibli ในเรื่องของการผลิตผลงานและมูลค่าของแบรนด์ได้

จากเรื่องราวของเพื่อนบ้านผู้น่ารักอย่าง โตโตโร่ ใน My Neighbor Totoro สู่การผจญภัยของ จิฮิโระ กับ ฮาคุ ที่ทั้งสนุกสนานและซาบซึ้งอย่าง Spirited Away หรือความรักอันใสซื่อบริสุทธิ์ของ โปเนียว ธิดาสมุทร ใน Ponyo

 

เรื่องราวของความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ และมิตรภาพ ที่ให้มากกว่าแค่ความบันเทิง เพราะลงลึกไปถึงความคิดและจิตวิญญาณ ผ่านการบอกเล่าด้วยลายเส้นที่งดงามจนเหมือนภาพเหล่านั้นมีชีวิต คือเสน่ห์ไม่รู้ลืมที่ ‘Studio Ghibli’ มอบให้แก่ผู้ชมทุกคนผ่านแอนิเมชัน ‘ชั้นครู’ มากมาย

 

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้สตูดิโอแอนิเมชันจากประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้ คือหนึ่งในสตูดิโออันเป็นที่รักและหวงแหนมากที่สุดของคนทั่วโลก

 

แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรมของชีวิต แม้แต่สตูดิโอที่ทุกคนรักอย่าง Ghibli เองก็หลีกหนีมันไม่พ้น เมื่อมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็น Nippon TV

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันจะทำให้จิตวิญญาณและตัวตนของ Studio Ghibli ที่ก่อตั้งโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ สูญสลายไปด้วยหรือไม่

 

โตโตโร่ นายจะเปลี่ยนไปไหมหลังจากนี้?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การเปลี่ยนแปลงที่มิอาจหลีกหนี

 

ข่าวการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ Studio Ghibli เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 21 กันยายน เมื่อผู้บริหารของ Nippon TV ได้เข้าพบกับผู้บริหารของฝ่ายสตูดิโอ

 

การพบกันครั้งนี้เป็นการตัดสินใจร่วมกันที่จะให้สตูดิโอระดับตำนานแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือของ Nippon TV ด้วยการถือหุ้น 42.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายถึงการตัดสินใจครั้งนี้ โดยไม่มีการเปิดเผยถึง ‘มูลค่า’ ของข้อตกลงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

 

“จากการที่ผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มีอายุถึง 82 ปีแล้ว ส่วน โทชิโอะ ซูซูกิ ก็มีอายุถึง 75 ปี Studio Ghibli ก็ประสบปัญหาในเรื่องของการหาผู้สืบทอด”

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวของสตูดิโอนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขาตระหนักถึงปัญหานี้มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว

 

ทุกอย่างเริ่มต้นจากเมื่อปี 2013 เมื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ซึ่งขณะนั้นมีวัย 72 ปี ประกาศว่า เขาจะขอวางมือจากการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์  เนื่องจากคิดว่าถึงวัยอันควรที่จะพักผ่อนแล้ว โดยภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Wind Rises ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพในใจของมิยาซากิจากความทรงจำของครอบครัวในวัยเด็ก จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย

 

การประกาศครั้งนั้นทำให้ทางด้านซูซูกิที่ก่อร่างสร้างทุกอย่างด้วยกันมาคิดว่าถึงเวลาที่ Studio Ghibli จะต้องเปลี่ยนแปลง

 

แต่ระยะเวลาผ่านมา 10 ปี ก็ยังไม่มีใครที่จะรับช่วงต่อจากมิยาซากิได้

 

หรือความจริงเราควรจะบอกว่า ไม่มีใครกล้าที่จะรับช่วงต่อจากเขา แม้กระทั่งลูกชายของเขาเอง

 

ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli

ภาพ: Jun Sato / WireImage

 

ไม่มีใครทดแทนได้ แม้กระทั่งลูกชาย

 

หนึ่งในคนที่ถูกคาดหมายมาตลอดว่าจะรับช่วงต่อจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ คือ โกโร มิยาซากิ บุตรชายคนโต ผู้เดินตามรอยของพ่อในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยเช่นกัน

 

เพียงแต่แอนิเมชันสำหรับเขาแล้วไม่ใช่ความทรงจำที่ดีนัก

 

การทำงานหนักชนิดทุ่มเทด้วยร่างกายไปจนถึงจิตวิญญาณของฮายาโอะ ทำให้เขาห่างเหินจากครอบครัว ไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้เวลาร่วมกับลูกชายอย่างที่ควรจะเป็น และนั่นทำให้เมื่อโตขึ้นมา โกโรจึงไม่คิดที่จะเดินตามรอยเท้าของพ่อในการเป็นนักวาดแอนิเมเตอร์

 

เขาเลือกเส้นทางในการขีดเขียนของตัวเองไปอีกแบบ ด้วยการเป็นสถาปนิกแทน

 

อย่างไรก็ดี ฮายาโอะพยายามปรับความเข้าใจกับโกโรด้วยวิธีในแบบของเขาคือ การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Ponyo ที่เชื่อกันว่าเป็นคำขอโทษจากพ่อที่ไม่ได้ใส่ใจและดูแลเขาอย่างที่ควรจะทำ

 

โดยเนื้อหาของแอนิเมชันเรื่องนี้นั้นนอกเหนือจากความรักอันแสนบริสุทธิ์ระหว่าง โปเนียว เทพธิดาสมุทรผู้แสนน่ารักและซุกซน กับ โชสุเกะ ตัวละครชายที่เป็นเด็กที่ซื่อตรงและมั่นคง บรรยากาศความอบอุ่นของครอบครัวคือ ‘สาร’ ที่ถูกแทรกอยู่ในเรื่อง

 

และนั่นเป็นการแทนคำขอโทษของฮายาโอะ เพราะแรงบันดาลใจของ Ponyo แท้จริงแล้วมาจากภาพยนตร์เรื่อง Tales from Earthsea ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของโกโรกับ Studio Ghibli ในการเป็นผู้กำกับแอนิเมชัน หลังจากที่ลังเลว่าจะเข้าวงการมาโดยตลอด

 

เรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยในสารคดี How Ponyo Was Born ว่าโกโรเก็บความรู้สึกมาโดยตลอดว่าเขาไม่เคยถูกพ่อเลี้ยงดู คนที่เลี้ยงดูเขาคือผลงานของพ่อ

 

แต่ถึงฮายาโอะจะกล่าวคำขอโทษแล้ว นั่นก็ไม่ได้แปลว่าโกโรจะยอมรับช่วงต่อทุกอย่าง

 

เพราะการทำงานให้ได้มาตรฐานเดียวกับที่ฮายาโอะทำไว้ เป็นเรื่องที่หนักหนาจนเกินไปสำหรับลูกชายอย่างเขา

 

สุดท้ายแม้จะทำงานในวงการแอนิเมชัน ได้กำกับแอนิเมชันให้สตูดิโอของพ่อ 3 เรื่อง และมีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าที่ระลึกที่ขายใน Ghibli Park สวนสนุกแห่งแรกของ Studio Ghibli ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2022 โดยการเปิดตัวของเขาในครั้งนั้นยังคล้ายเป็นการบอกว่า เขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นในสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับสตูดิโอของพ่อ

 

แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการหาคนที่จะมาแทนที่จริงๆ

 

โกโรขอปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะไม่เคยคิดจะรับช่วงต่อ แต่หลังจากไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่แล้ว เขาคิดว่ามันจะเป็นการดีกว่าสำหรับ Studio Ghibli ที่จะหาคนสืบทอดงานแห่งจิตวิญญาณที่เป็นคนอื่นไปเลย

 

ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images

 

เพราะจิตวิญญาณของ Ghibli คือชีวิตของมิยาซากิ

 

Studio Ghibli ถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1985 โดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ, ยาสุโยชิ โทคุมะ, โทชิโอะ ซูซูกิ และ ฮายาโอะ มิยาซากิ ซึ่งเป็นคนในวงการที่เคยร่วมงานกันมายาวนาน จนนอกจากจะรู้มือก็ยังรู้ใจด้วย

 

แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้ มิยาซากิก็ผ่านเส้นทางที่โหดหินอยู่ไม่ใช่น้อย

 

มิยาซากิเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตหางเสือให้เครื่องบินรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ให้ความสนใจในงานด้านศิลปะ โดยเฉพาะมังงะและแอนิเมชัน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นไฮสคูล

 

ความแปลกประหลาดคือ การที่มิยาซากิเพิ่งเริ่มรู้ตัวในช่วงนั้นว่าเขาจะวาดภาพได้เฉพาะในสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เช่น เครื่องบิน รถถัง หรือเรือรบ เท่านั้น โดยไม่สามารถวาดภาพของคนหรือรูปทรงได้ ซึ่งเหมือนจะเป็นข้อด้อยสำหรับการเป็นศิลปิน แต่สิ่งนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อดีที่สุดของเขาแทน เพราะทำให้เขาเริ่มสนใจศึกษาการเคลื่อนไหวของคน

 

และลึกไปกว่านั้นคือ การทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเคลื่อนไหว

 

ดังนั้นในผลงานของมิยาซากิ ทุกอย่างจะอยู่บนโลกที่ดูสมจริงและอ่อนช้อย

 

แรงบันดาลใจของเขาในช่วงแรกคือ ปรมาจารย์ของวงการมังงะญี่ปุ่นยุคแรกอย่าง เท็ตสึจิ ฟุกุชิมะ และ โอซามุ เทซึกะ โดยคนหลังเป็นเจ้าของผลงานระดับตำนานมากมาย รวมถึง ‘เจ้าหนูอะตอม’ (Astro Boy) อันเป็นที่รักของเด็กทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกนั้นมิยาซากิไม่ชอบผลงานของเขาสักเท่าไรนัก บ่อยครั้งที่เขาทำลายมัน เพราะรู้สึกว่าในผลงานนั้นไม่ได้มีอะไรที่เป็นของเขาเลย ทุกอย่างมันเป็นการลอกเลียนแบบมาจากไอดอลของเขาเท่านั้น

 

ในระหว่างนั้นเขาค้นพบความรักครั้งใหม่ในภาพยนตร์แอนิเมชันสีเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ออกฉายในปี 1958 อย่าง Panda and the Magic Serpent ที่ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้เขา และช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัย แม้จะศึกษาในด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่มิยาซากิจะใช้เวลาอ่านวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งช่วยขัดเกลาความคิดและมุมมอง ทำให้มองโลกอย่างอ่อนโยนและลึกซึ้งมากขึ้น

 

จนกระทั่งเริ่มทำงานครั้งแรกกับบริษัท Toei Animation ซึ่งนอกจากจะได้ร่วมงานกับทาคาฮาตะ – ที่ในเวลาต่อมาร่วมกันทำผลงานระดับมาสเตอร์พีซของโลกอย่าง Grave of the Fireflies (สุสานหิ่งห้อย) – ก็ยังได้ครูดีอย่าง ยาสุโอ โอสึกะ เป็นที่ปรึกษาให้วิชาความรู้

 

เมื่อออกจาก Toei Animation มิยาซากิได้ทำงานกับสตูดิโออื่นๆ ก่อนจะเริ่มฉายแววในผลงานที่โดดเด่นอย่าง The Castle of Cagliostro (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก นำไปสร้างภาพยนตร์ชุด Indiana Jones) ในปี 1979 และในปี 1984  กับเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind

 

ในวันที่วิชาแก่กล้าแล้ว มิยาซากิจึงชักชวนเพื่อนก่อตั้ง Studio Ghibli โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ Laputa: Castle in the Sky’

 

ก่อนที่จะมีภาพยนตร์แอนิเมชันระดับตำนานตามมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น My Neighbor Totoro ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลและสะท้อนตัวตนของ Studio Ghibli แต่ความสำเร็จนั้นได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกด้วยเรื่อง Princess Mononoke ในปี 1997 ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Japan Academy Prize

 

จากนั้นในปี 2001 Studio Ghibli ได้สร้างตำนานแอนิเมชันที่ยิ่งใหญ่อย่าง Spirited Away ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันแห่งปี และยังคงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกและเรื่องเดียวจนถึงปัจจุบันที่วาดด้วยมือ (และไม่ใช่ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ) ที่ได้รับรางวัลนี้

 

แต่ผลงานของ Studio Ghibli ก็ไม่ได้มีแค่นี้ ยังมีผลงานที่ได้รับความนิยมอย่าง Kiki’s Delivery Service (1989), Porco Rosso (1992), Howl’s Moving Castle (2004), Ponyo (2008), The Wind Rises (2013) รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อกันว่าในชีวิตคนเราทุกคนจะมีภาพยนตร์แอนิเมชันของ Ghibli อยู่ในความทรงจำอย่างน้อยคนละหนึ่งเรื่อง

 

สิ่งที่ทำให้ผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับการโค้งคำนับจากโลก มาจากความทุ่มเทในการทำงานของทุกคนที่ทำงานกันอย่างหนัก ถวายทั้งชีวิตและจิตใจลงไปในผลงาน โดยเฉพาะมิยาซากิที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่ยอมลดราวาศอกในเรื่องของการทำงานแม้แต่น้อย

 

ที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ และนั่นหมายถึงอีกด้านของภาพที่งดงามคือ การที่คนที่ทำงานร่วมกับมิยาซากิต้องเจ็บปวดไปกับการทำให้ผู้กำกับอย่างเขาพอใจให้ได้

 

และนั่นหมายถึงอีกด้านของผู้กำกับอัจฉริยะก็คือ คนอารมณ์ร้อน โมโหร้าย และมีฝีปากที่ทำร้ายหัวใจของเพื่อนร่วมงานทุกคน

 

แต่นั่นก็เป็นเพราะผลงานทุกชิ้นมันคือเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเขาเช่นกัน

 

 

ก้าวต่อไปของ Studio Ghibli

 

ผลงานล่าสุดของ Studio Ghibli ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2023 คือเรื่อง Kimitachi wa Dō Ikiru ka (君たちはどう生きる) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Boy and the Heron’ (เดิมใช้ชื่อว่า How Do You Live)

 

ผลงานชิ้นนี้ทางสตูดิโอไม่มีการโปรโมตในรูปแบบใดๆ อย่างที่ภาพยนตร์ทั่วไปต้องทำการตลาดประชาสัมพันธ์อะไร ไม่มีใครเคยได้เห็นภาพหรือเรื่องย่อของผลงานชิ้นนี้มาก่อนเลย

 

สิ่งเดียวที่มีการพูดถึงคือ การบอกกันว่า ‘นี่จะเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ยิ่งใหญ่’ และมันกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด

 

แฟนคลับของเขาและ Studio Ghibli ตีตั๋วเข้าไปชมโดยไม่ต้องคิดอะไรอีกเลย และปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถทำเงินรายได้ในญี่ปุ่น 8.16 พันล้านเยน พร้อมกับได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีมาก

 

แต่ชีวิตหลังจากนี้ของ Studio Ghibli จะเป็นอย่างไร?

 

เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ Studio Ghibli ยุคที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น Nippon TV อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจนัก

 

เหตุผลนั้นเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายไม่ใช่คนอื่นคนไกล ต่างคุ้นเคยกันมาเป็นเวลาเนิ่นนาน เรียกได้ว่านับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง Studio Ghibli เลยทีเดียว เพราะผลงานเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของสตูดิโอ ออกอากาศครั้งแรกที่ Nippon TV ในปี 1985 ต่อด้วย Kiki’s Delivery Service ในปี 1989 ที่ Nippon TV ร่วมออกทุนในการผลิต และนับจากนั้นเป็นต้นมาทั้งสองฝ่ายก็ร่วมมือกันมาโดยตลอด

 

ความร่วมมือนั้นไปถึงการที่ Nippon TV ช่วยก่อตั้ง Mitaka no Mori Ghibli Museum ในกรุงโตเกียวด้วย ส่วนในทางกลับกัน มิยาซากิก็เป็นผู้ออกแบบตัวนำโชค หรือมาสคอตของ Nippon TV ในปี 1993 และ 2001 ด้วยเช่นกัน

 

เรียกได้ว่า Nippon TV รู้และเข้าใจตัวตนของ Studio Ghibli เป็นอย่างดี และไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่เคยทำงานร่วมกับ Disney ในช่วงปี 1996 ที่พบว่าไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

 

“เพราะ Nippon Television (Nippon TV) มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานกับ Studio Ghibli โดยเคารพในคุณค่าของสตูดิโอ ดังนั้นเรามั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยปกป้อง Studio Ghibli ในเรื่องของการผลิตผลงานและมูลค่าของแบรนด์ได้อย่างแน่นอน” คือคำกล่าวในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย

 

จากนี้ Studio Ghibli จะก้าวเดินต่อไปโดยไม่ยึดติดกับตัวตนของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยความเชื่อว่า ระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา มันยาวนานและมากพอที่จะทำให้จิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับการสานต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป

 

และด้วยความหวังว่า Studio Ghibli จะไม่ใช่แค่สถานที่

 

แต่เป็นผู้คน

 

ส่วน ฮายาโอะ มิยาซากิ นั้น ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาที่ใช้เวลาทำกว่า 6 ปีก็สำเร็จแล้ว

 

ซูซูกิเปิดเผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ชายชราในวัย 82 ปีอย่างมิยาซากิทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างลงไปในผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นการทำเพื่อหลานของเขา

 

และเป็นการบอกรักและบอกลากับหลานของเขาโดยไม่ใช้คำพูด เหมือนเช่นครั้งที่บอกขอโทษลูกชายผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันว่า

 

“อีกไม่นานคุณปู่ก็จะไปอยู่โลกใหม่แล้ว แต่ปู่ทำหนังเรื่องนี้ทิ้งไว้เป็นของต่างหน้าให้หนูดู เพราะปู่รักหนูนะ”

 

ภาพปก: Damon Coulter / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง: 

FYI
  • จริงๆ แล้ว ฮายาโอะ มิยาซากิ มีลูกชายคนเล็กอีกคนคือ เคสุเกะ มิยาซากิ แต่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เพราะทำงานด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์และเป็นนักเต้นบัลเลต์ระดับมืออาชีพ
  • โกโร มิยาซากิ มีผลงาน 3 เรื่องด้วยกันกับ Studio Ghibli คือ Tales from Earthsea (2006), From Up on Poppy Hill (2011) และล่าสุดคือ Earwig and the Witch (2020) แต่ไม่มีเรื่องใดประสบความสำเร็จทั้งรายได้และความนิยม เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาคิดว่าเขาจะไม่สืบทอดสตูดิโอนี้ต่อจากพ่อ
  • ผลงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นแรงบันดาลใจของผู้กำกับมากมาย รวมถึงผู้กำกับดังอย่าง เวส แอนเดอร์สัน และ กีเยร์โม เดล โตโร ขณะที่ Disney ก็นำแรงบันดาลใจจาก Spirited Away ไปทำแอนิเมชันของ Pixar อย่างเรื่อง Brave และ Frozen
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising