×

มติ กมธ.สภา แก้กฎหมาย กยศ. กำหนดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2022
  • LOADING...
ทวี สอดส่อง

วันนี้ (28 มิถุนายน) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีมติประเด็นเรื่องการคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และผู้ค้ำประกัน ใหม่อีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่โหวตให้คงมติตามเดิมที่มีมติไปแล้วคือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยไม่มีเบี้ยปรับเงินเพิ่มในกรณีการผิดนัดชำระหนี้ และให้ยกเลิกภาระผู้ค้ำประกันทั้งหมด 

 

ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณามาตรา 24 ที่เป็นบทเฉพาะกาล มีสาระสรุปว่า “…พระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ยกเว้นเงินเพิ่มให้กับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย” 

 

การมีมติให้มีผลย้อนหลังอันเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้กู้จำนวนกว่า 2 ล้านคนที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในขณะนี้ต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่สูงมาก จะได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาภาระ โดยให้เป็นการผ่อนชำระเพียงเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี ไม่มีเบี้ยปรับและผู้ค้ำประกันก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบด้วย 

 

พ.ต.อ. ทวีกล่าวว่า พรรคประชาชาติเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ที่เป็นหน้าที่ของรัฐในการต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา จึงไม่ควรมีการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ได้อธิบายในกรณีผู้ที่เห็นว่าดอกเบี้ยขัดหลักการศาสนานั้นได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือการกำหนดค่าดำเนินการ โดยใช้คำว่า ‘ประโยชน์อื่นใด’ แทน ‘ดอกเบี้ย’ (ไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี) สำหรับผู้กู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือมีความเชื่อตามหลักศาสนาที่ไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ย 

 

โดยในการพิจารณาครั้งสุดท้ายในสัปดาห์หน้าจะได้มีการพิจารณาขยายโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นคนไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนด้วยได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X