ภารกิจลงดวงจันทร์ครั้งแรกของภาคเอกชนสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญปัญหาเชื้อเพลิงรั่วอย่างรุนแรง จากรายงานล่าสุดของ Astrobotic บริษัทผู้พัฒนายานลำนี้ เมื่อเวลา 14.18 น. ของวันที่ 8 มกราคม ตามเวลาประเทศไทย จรวด Vulcan เที่ยวบินแรกของบริษัท ULA ได้พายาน Peregrine ขึ้นจากฐานปล่อยที่ 41 ของสถานีกองทัพอวกาศที่แหลมคาเนเวอรัลอย่างปลอดภัย และเข้าสู่วงโคจรตามที่วางแผนไว้ได้สำเร็จ
แม้ยาน Peregrine สามารถเริ่มระบบต่างๆ ขึ้นมาได้ตามที่วางแผนไว้ แต่ทีมภารกิจพบว่าระบบเชื้อเพลิงของยานมีปัญหาจนไม่สามารถรักษาตำแหน่งให้ยานอวกาศหันเข้าหาดวงอาทิตย์ได้อย่างเสถียร ซึ่งจำเป็นต่อการให้พลังงานแก่แบตเตอรี่และระบบต่างๆ ทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยยืดอายุปฏิบัติการของภารกิจให้ได้นานที่สุด
รายงานล่าสุดผ่านบัญชี X ของบริษัท Astrobotic ระบุว่าระบบขับดันของยานกำลังทำงานหนักกว่าที่ถูกออกแบบไว้ เพื่อช่วยให้ยานยังคงหันเข้าหาดวงอาทิตย์ได้อีกประมาณ 40 ชั่วโมง โดยทีมภารกิจพยายามส่งยาน Peregrine ให้เดินทางไปใกล้ดวงจันทร์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนจะสูญเสียพลังงานบนยานไป
ด้าน NASA ระบุว่าพวกเขากำลังทำงานกับ Astrobotic เพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อ 5 อุปกรณ์ทดลองบนตัวยาน พร้อมกับสืบหาต้นเหตุที่ทำให้มีปัญหากับระบบเชื้อเพลิงบนยาน
Joel Kearns รองผู้อำนวยการฝ่ายการสำรวจอวกาศของ NASA ระบุว่า “การสำรวจอวกาศมีอุปสรรคอยู่มากมาย และพวกเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทีมของ Astrobotic และ NASA ได้พาเราเข้าใกล้เป้าหมายของการพายานสำรวจกลับไปถึงพื้นผิวดวงจันทร์อีกขั้นในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทีมิส
“การเดินทางโมเดลนี้ถือเป็นครั้งแรกขององค์กรเรา และกับอะไรที่ใหม่เช่นนี้มันย่อมมีความเสี่ยงที่สูงอยู่แล้ว โดย NASA ยังคงสนับสนุนบริษัทภาคเอกชนของเราอย่างเต็มที่ในการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำพาอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง”
สำหรับยาน Peregrine เป็นยานลงจอดแบบไม่มีมนุษย์ควบคุม ซึ่งตามเดิมมีแผนเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยเป็นภารกิจแรกของโครงการ CLPS หรือ Commercial Lunar Payload Services ของ NASA ที่เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการนำเทคโนโลยีและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปลงยังดวงจันทร์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทีมิส
ภาพ: NASA
อ้างอิง: