×

การแข่งขันและความซับซ้อนของธุรกิจสตรีมมิงบนเวทีโลก

06.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • Netflix เริ่มต้นด้วยการสร้างแคตตาล็อกให้มีตัวเลือกเยอะเพื่อที่จะดึงคนดูมา โดยซื้อสิทธิ์เผยแพร่หนังและซีรีส์จากสตูดิโอต่างๆ แต่เมื่อค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้น Netflix จึงตัดสินใจทำคอนเทนต์ของตัวเอง และก็ได้ House of Cards เป็นซีรีส์เปิดตัว
  • ถ้วยรางวัลคือความสำเร็จ ถามว่าทำไมมันสำคัญขนาดนั้น เพราะว่ารางวัลเป็นเหมือนตราปั๊มว่าสื่อในยุคใหม่สามารถพัฒนาให้ทันกับค่ายหนัง ละครโทรทัศน์ได้
  • ในงานประกาศรางวัล Emmy Awards ที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่อง The Handmaid’s Tale ของ Hulu กลายเป็นรายการจากสตรีมมิงแพลตฟอร์มเรื่องแรกที่ชนะในสาขาซีรีส์ยอดเยี่ยม

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดิสนีย์ประกาศว่าจะยุติสัญญาฉายภาพยนตร์กับ Netflix ในปี 2018 และจะเปิดบริการสตรีมมิงของตัวเองในปี 2019 หลังจากที่ข่าวแพร่ออกไป หุ้นของ Netflix ตกลงร้อยละ 5 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นใครก็หวั่นไหว เพราะแคตตาล็อกที่ดิสนีย์ถือนั้นนอกจากจะมีภาพยนตร์แอนิเมชันคลาสสิกที่ทุกคนต่างรู้จัก หนังของบริษัทลูกอย่าง Pixar, Marvel และ Lucasfilm มีฐานแฟนคลับที่ใหญ่มหาศาล มันก็มีความเป็นไปได้สูง

 

แต่สิ่งที่ Netflix มีเหนือกว่าคือ ผู้ใช้งานมากกว่า 109 ล้านคนทั่วโลก และธุรกิจสตรีมมิงวิดีโอที่ใหญ่และซับซ้อนมาก หากนั่งแยกคอนเทนต์ในแคตตาล็อกของแต่ละประเทศ คู่แข่งหลักของ Netflix ในตลาดโลกคือ Amazon ที่พ่วงบริการให้กับสมาชิก Prime ในบางประเทศ และเปิดให้ครอบคลุมกว่า 200 ประเทศ ส่วนในตลาดอเมริกา Hulu คงเป็นอีกชื่อที่เราน่าจะคุ้นกันดี และยังไม่นับแพลตฟอร์มยิบย่อยในแต่ละประเทศอีกด้วย

 

House of Cards ของ Netflix

 

Carpool Karaoke ของ Apple Music

 

หลังจากเปลี่ยนการให้บริการเช่า DVD มาเป็นให้เป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์ม Netflix เริ่มต้นด้วยการสร้างแคตตาล็อกให้มีตัวเลือกเยอะเพื่อที่จะดึงคนดูมา โดยการซื้อสิทธิ์เผยแพร่หนังและซีรีส์จากสตูดิโอต่างๆ แต่เมื่อค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้น บวกกับตลาดซีรีส์ทางทีวีเริ่มบูมขึ้นเรื่อยๆ Netflix จึงตัดสินใจทำคอนเทนต์ของตัวเอง และก็ได้ House of Cards เป็นซีรีส์เปิดตัว เมื่อคู่แข่งอย่าง Amazon ก้าวเข้ามาในสนามแข่ง แน่นอนว่าแคตตาล็อกสู้ไม่ได้ แต่ด้วยเงินทุนที่หนา จึงเน้นไปที่การทำซีรีส์ของตัวเองแทน หลังจากที่ซีรีส์ Transparent ออกฉาย ก็ได้รับคำชมอย่างท่วมท้น พ่วงด้วยถ้วยรางวัลต่างๆ จึงทำให้หนังและซีรีส์เป็นตัววัดว่าใครเจ๋งกว่ากัน และมีถ้วยรางวัลเป็นเดิมพัน ที่ต้องไปแย่งชิงกับช่องโทรทัศน์และบริษัทเคเบิลอย่าง HBO อีกด้วย

 

แล้วทำไมมันถึงซับซ้อนกว่าที่เห็น? อย่างแรกเพราะคู่แข่งไม่ได้มีแค่สองคน และไม่ได้มีแค่ตลาดอเมริกา หลังจากที่ Netflix เปิดให้บริการมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก คู่แข่งยักษ์ใหญ่ต้องเพิ่มกำลังการลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาดเหมือนอย่างที่ Amazon ทำ นอกจากนั้นยังเพิ่มเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้เผยแพร่ภาพแต่เพียงผู้เดียว ออริจินัลคอนเทนต์ที่ทำขึ้นมาเองหรือไปซื้อมาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการดึงคนดู นอกจากจะต้องแข่งกับบริษัทสตรีมมิงด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับช่องทีวีที่พยายามหารายได้จากการเอารายการไปขึ้นออนไลน์กินหัวค่าสมัคร ไม่ว่าจะเป็น CBS All Access ที่รื้อฟื้นซีรีส์ Star Trek มาทำใหม่ หรือ HBO Go

 

ส่วน Hulu แพลตฟอร์มร่วมลงทุนระหว่าง 21st Century Fox, Comcast, Disney และ Time Warner สี่ยักษ์ในวงการสื่อที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐฯ กลับตัดสินใจที่จะโฟกัสในตลาดอเมริกามากกว่า โดยล่าสุดได้เปิดตัว Live TV ที่กระจายสัญญาณโทรทัศน์ช่องต่างๆ บวกกับรายการที่มีอยู่ เป็นการตอบตลาดยุคดิจิทัลและลดค่าเคเบิลแบบเดิม นี่ยังไม่นับรวมกับ Facebook และ Apple ที่หันมาลงทุนวิดีโอคอนเทนต์ โดยเฉพาะรายหลัง เพิ่งได้สิทธิ์ฉายซีรีส์ที่กำลังจะถ่ายทำ นำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน และรีส วิทเธอร์สปูน

 

Transparent ของ Amazon

 

Demi Lovato: Simply Complicated ของ YouTube Red

 

อย่างที่สองที่เห็นได้ชัดคือ ลิขสิทธิ์ที่ได้รับให้ฉายในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้กลไกการตลาดแตกต่างกันออกไป อย่างบ้านเราคนอาจจะสมัครบริการอื่นๆ เพราะมีแคตตาล็อกที่ถูกใจมากกว่า อย่างแค่ในยุโรปรายการที่มีบน Netflix หรือ  Amazon ก็ต่างกันอยู่บ้าง ยกตัวอย่างซีรีส์ Gossip Girl ที่มีฉายในประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ในประเทศฝรั่งเศสถูกยกออก แล้วมีให้บริการผ่าน video-On-Demand หรือจ่ายเงินดูเป็นตอนๆ บนยูทูบแทน ส่วนค่ายไหนที่มีอยู่เฉพาะในอเมริกาอย่าง CBS ที่ให้สิทธิ์แพร่ภาพทั่วโลก Star Trek: Discovery กับ Netflix หรือ Hulu ที่ขายรายการให้กับ Channel 4 ของอังกฤษแทน วิธีการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการสร้างรายได้สำหรับแฟลตฟอร์มที่ไม่ได้เปิดให้บริการทั่วโลก ดังนั้นหากมองในมุมตลาดโลก Netflix กับ Amazon ยังเป็นผู้นำตลาดอยู่ แถมทั้งคู่ยังก้าวไปแข่งในธุรกิจภาพยนตร์อีกด้วย

 

ถ้วยรางวัลคือความสำเร็จ ถามว่าทำไมมันสำคัญขนาดนั้น เพราะว่ารางวัลเป็นเหมือนตราปั๊มว่าสื่อในยุคใหม่สามารถพัฒนาให้ทันกับค่ายหนัง ละครโทรทัศน์ได้ ในยุคที่ใครๆ ก็เรียกว่ายุคทองของทีวี ที่ดาราภาพยนตร์ตัวพ่อตัวแม่มาเล่นซีรีส์บนจอแก้วแทน มีรายการดีๆ ถูกใจนักวิจารณ์มากมาย แต่ต้องของแท้ท็อปฟอร์มเท่านั้นถึงจะได้เข้าชิงและได้ถ้วยกลับบ้าน ในงานประกาศรางวัล Emmy Awards ที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่อง The Handmaid’s Tale ของ Hulu กลายเป็นรายการจากสตรีมมิงแฟลตฟอร์มเรื่องแรกที่ชนะในสาขาซีรีส์ยอดเยี่ยม เหนือคู่แข่งสามเรื่องของ Netflix นอกจากนั้นยังกวาดไปอีก 7 รางวัลกลายเป็นซีรีส์ที่ใครๆ ก็พูดถึง และนี่เป็นอีกหนึ่งข้อดีของถ้วยรางวัล ที่สามารถเรียกคนดูให้ไปหาดูได้ จะสมัครก็ง่าย เดือนแรกได้ดูฟรี ถ้าชอบติดใจก็จ่ายเงินดูต่อ ส่วนทาง Amazon เองก็ไม่น้อยหน้าหลังจากที่หนังเรื่อง Manchester by the Sea ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลออสการ์ที่ผ่านมา แถม เคซี แอฟเฟล็ก คว้ารางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายไปครอง Netflix ต้องเร่งเครื่องวางแผนผลิตรายการใหม่ๆ แต่สิ่งที่ค่ายนี้ยังทำได้ดีตลอดคือรายการสารคดีที่มีให้เลือกดูเยอะจริงๆ แถมยังเอาออสการ์กลับมาแล้ว ดังนั้นหลังจากปีนี้ยิ่งคู่แข่งในสนามมีมากขึ้น การแย่งถ้วยมานอนกอดก็ดุดันขึ้น แต่เราคนดูก็มีตัวเลือกและรายการคุณภาพให้ดูเยอะขึ้นกว่าเดิม

 

The Handmaid’s Tale ของ Hulu

 

อย่างไรก็ดีตัวเลือกเยอะแต่เงินไม่แยะ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน หลายคนบอกว่า Netflix น่าจะเสียสมาชิกไปเยอะ เมื่อรายการของดิสนีย์ถูกถอดออกแล้วคนดูก็ย้ายตามไปสมัครแพลตฟอร์มของดิสนีย์ จริงอยู่คนอาจจะสมัครทดลองใช้งานฟรีเดือนแรก แต่หากตัวเลือกไม่เยอะ รายการไม่หลากหลาย ก็กลับไปใช้บริการเดิม Amazon ได้เปรียบก็ตรงที่ในหลายๆ ประเทศสมาชิก Prime รายปีสามารถใช้บริการวิดีโอสตรีมมิงได้ด้วย ทำให้ประหยัดค่าสมาชิกไปได้บ้าง แต่คนที่มีงบจำกัด ไหนจะต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน ค่าโทรศัพท์มือถือ แถมยังพ่วงด้วยสตรีมมิงเพลง ดังนั้นงบสำหรับวิดีโอแพลตฟอร์มจึงมีได้แค่เจ้าเดียว

 

ดังนั้น ดิสนีย์ไม่สามารถเอา Star Wars หรือ Marvel เป็นตัวเดินหมากเพียงอย่างเดียว หนังหลายเรื่องเป็นหนังที่คนเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์เพื่อให้ได้อรรถรสเต็มที่ คนอาจจะยอมเสียเงินไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ แล้วก็กลับบ้านมาดู Netflix ต่อก็ได้ แต่ข้อดีที่ดิสนีย์แยกออกมาทำแพลตฟอร์มของตัวเองคือ เราจะมีซีรีส์ Star Wars และ Marvel และแน่นอนว่าด้วยกระเป๋าสตางค์ก้นลึกของบริษัทแม่ ดิสนีย์คงหวังจะให้ซีรีส์ใหม่มีผลกระทบพอๆ กับ Game of Thrones สิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นช่องทีวีดั้งเดิมหรือวิดีโอสตรีมมิงคือ กุญแจดอกสำคัญที่จะเรียกเรตติ้งหรือสมาชิกเพิ่มก็คือรายการที่นอกจากจะต้องดีแล้ว ยังต้องสร้างกระแสให้ได้อีกด้วย การทำให้สื่อพูดถึงบ่อยๆ หรือเข้าชิงรางวัลต่างๆ ทำให้คนดูมั่นใจว่า อย่างน้อยเงินที่จ่ายไป ยังไงก็คุ้ม คุยกับคนอื่นรู้เรื่องแน่ๆ ไม่แน่เราอาจจะได้เห็น Apple คว้า Emmy Awards สำหรับซีรีส์ยอดเยี่ยมในอีก 2 ปีก็ได้ ส่วน Netflix อาจจะต้องรอเก้อต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising