×

Streaming Music: ปัจจุบันและอนาคตของบริการฟังเพลงออนไลน์ อะไรกำลังรอเราอยู่

17.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ในปี 2017 มีผู้ใช้งานสตรีมมิงมิวสิกจำนวนมากกว่า 176 ล้านคนทั่วโลก และภายในปี 2022 จำนวนผู้ใช้งานอาจจะมากถึง 350 ล้านคน
  • รายได้ทั้งหมดจากบริการสตรีมมิงมิวสิกในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จาก 1.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 มาเป็น 3.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2018
  • Spotify, Apple Music ยังเป็นมิวสิกสตรีมมิงลำดับ 1 และ 2 ของโลก โดยมีผู้แข่งขันรายใหม่อย่าง YouTube Music จาก Google ที่ปล่อยมาให้ลองตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2018

ตลอดปี 2017 ตลาดของสตรีมมิงมิวสิก (Streaming Music) หรือการฟังเพลงออนไลน์ เติบโตขึ้นถึง 41.1% และกลายเป็นแหล่งการฟังเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า 176 ล้านคนทั่วโลก ที่สมัครสมาชิกกับบริการสตรีมมิงมิวสิกแบบจ่ายเงิน และเช่นเดียวกันในปี 2018 ยอดการใช้งานสตรีมมิงมิวสิกยังคงเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ บริษัท Futuresource Consulting ได้วิเคราะห์และคาดเดาถึงจำนวนผู้ใช้งานในอนาคตว่าอาจสูงถึง 235 ล้านคนภายในสิ้นปี 2018 และภายในปี 2022 จำนวนผู้ใช้งานสตรีมมิงมิวสิกก็อาจแตะ 350 ล้านคนทีเดียว!

 

สรุปแล้วมิวสิกสตรีมมิงเจ้าไหนฮิตสุด?

ตั้งแต่ปลายปี 2017 ที่ THE STANDARD เคยเขียนเปรียบเทียบบริการมิวสิกสตรีมมิง 3 เจ้า อย่าง Apple Music, Spotify และ JOOX

 

จนถึงปัจจุบันการแข่งขันกันระหว่างสตรีมมิงมิวสิกยักษ์ใหญ่อย่าง Spotify และ Apple Music ก็ยังคงมีอยู่ บ้างก็ยึดจากจำนวนผู้ใช้งานของ Spotify ที่มีสูงกว่า บ้างก็อ้างว่า Apple Music เป็นบริการสตรีมมิงมิวสิกเปิดใหม่ และมียอดการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานที่สูงกว่า Spotify และนี่คือข้อมูลล่าสุดที่เราได้รวบรวมมา ซึ่งเห็นชัดเจนว่า Spotify ครองตลาดผู้ฟังเพลงราว 83 ล้านคน ขณะที่ Apple Music มีผู้ใช้บริการ 43.5 ล้านคน

 

  • บริษัท Midia Research ระบุว่า Spotify ยังครองตลาดมิวสิกสตรีมมิงในช่วงกลางปี 2018 ได้ถึง 36% เท่ากับช่วงปลายปี 2017 ด้วยยอดผู้ใช้งานกว่า 83 ล้านคน
  • ข้อมูลจาก GlobalWebIndex ระบุว่า ในทวีปยุโรปมีผู้ใช้งาน Spotify สูงถึง 22% และมีผู้ใช้งาน Spotify ในแถบลาตินอเมริกาสูงถึง 46% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในหมู่บริการสตรีมมิงมิวสิกอื่นๆ
  • ในขณะที่ Apple Music ก็มีการขยับเปอร์เซ็นต์ขึ้นในตลาดมิวสิกสตรีมมิงอยู่ที่ 19% ด้วยยอดผู้ใช้งาน 43.5 ล้านคน (ข้อมูลจาก Midia Research ในช่วงกลางปี 2018) และทำให้ Apple Music ติดอันดับบริการสตรีมมิงมิวสิกที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดอันดับ 2 ในต้นปี 2018 โดยมีตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นคีย์หลักของการเติบโต
  • ข้อมูลจาก Loup Ventures ระบุว่า Apple Music ถือเป็นบริการสตรีมมิงมิวสิกที่ครองใจคนมากกว่า Spotify เพราะ Apple Music มียอดการเปลี่ยนจากแอ็กเคานต์ฟรี เป็นแบบจ่ายเงินสูงกว่าอยู่ที่ 0.64% เมื่อเทียบกับ Spotify ที่มีเพียง 0.24% เท่านั้น
  • ส่วนบริการสตรีมมิงมิวสิกที่เป็นที่นิยมรองลงมาก็ได้แก่ Amazon ที่มียอดผู้ใช้งานรวมในต้นปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 27.9 ล้านคน ซึ่งครอง 12% ของตลาดทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีบริการสตรีมมิงอื่นๆ อย่าง Tencent ของจีน, Deezer ของฝรั่งเศส และ Pandora ของสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

 

 

ที่ผ่านมาสตรีมมิงมิวสิกมีอะไรเจ๋งๆ บ้าง?

การที่จะอยู่รอดในสงครามมิวสิกสตรีมมิง แต่ละแพลตฟอร์มจำเป็นต้องหาลูกเล่นในการซื้อใจทั้งผู้ใช้งานและศิลปินผู้ผลิตเพลง ในปีที่ผ่านมาบริการสตรีมมิงมิวสิกต่างๆ ออกมานำเสนอฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อเอาใจผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น

 

อย่างเมื่อต้นปี 2018 ที่ Spotify ตัดสินใจเพิ่มความสามารถในการใช้งาน Spotify สำหรับสมาชิกที่ไม่ต้องการจ่ายรายเดือน ทำให้พวกเขาเลือกเพลงได้ตามสั่ง ทั้งที่ปกติฟังก์ชันดังกล่าวจะใช้งานได้เฉพาะสมาชิกพรีเมียมเท่านั้น นอกจากนี้ Spotify ยังเคยนำเสนอฟีเจอร์ Spotify Running (ก่อนที่จะหายไปในต้นปี 2018) รวมถึงล่าสุดกับฟีเจอร์ใหม่ใน Spotify for Artists ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินอิสระอัปโหลดเพลงของตัวเองเข้า Spotify ได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

 

ด้าน Apple Music เองก็มี Apple Music for Artists สำหรับศิลปินเช่นเดียวกัน รวมถึงฟีเจอร์อย่างการค้นหาเพลงโดยการพิมพ์เนื้อเพลงในช่องค้นหา ซึ่งเนื้อเพลงของเพลงใน Apple Music หลายหมื่นเพลงก็ถูกเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลผ่านพาร์ตเนอร์ชิปอย่าง Genius เว็บไซต์เนื้อเพลงชื่อดังที่เคยร่วมมือกับ Spotify ในการทำ Behind the Lyrics หรือฟีเจอร์ที่ช่วยบอกความหมาย แรงบันดาลใจ หรืออธิบายเรื่องราวเบื้องหลังเนื้อเพลง

 

อีกทั้ง Spotify และ Apple Music ยังร่วมมือกับ Google Maps ในการเพิ่มเครื่องมือควบคุมการเล่นเพลงผ่านแอปพลิเคชัน Google Maps ที่ทำให้ผู้ใช้งานเลือกเพลง หยุดเพลง เล่นเพลงได้โดยที่ไม่ต้องออกจากแอปพลิเคชันในขณะขับรถ ซึ่งถือว่าตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด

 

ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์ใหม่ๆ จากบริการสตรีมมิงเหล่านี้เท่านั้น ยังมีบริษัทใหญ่ๆ หลายที่ที่หันมาลงทุนเปิดบริการมิวสิกสตรีมมิงใหม่ของตัวเอง อย่าง YouTube Music จาก Google ที่ปล่อยมาให้ลองตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2018 ซึ่งมีจุดแข็งอยู่ที่ นอกจากผู้ใช้งานจะได้ฟังเพลงออฟฟิเชียลจากศิลปินค่ายดังๆ แล้ว พวกเขายังสามารถฟังเพลงรีมิกซ์ เพลงคัฟเวอร์ หรือแม้กระทั่งไลฟ์เวอร์ชันของเพลงต่างๆ ได้

 

หรืออย่าง Sony ที่ปล่อยบริการสตรีมมิงมิวสิกในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังเพลงแบบเน้นที่คุณภาพเสียง โดยการร่วมมือของ Sony Music Entertainment Japan และ Rhapsody International ในชื่อ Mora Qualitas ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงมิวสิกตามสั่งแบบคุณภาพดีเจ้าแรกของญี่ปุ่นด้วย

 

 

สตรีมมิงมิวสิกส่งผลต่ออุตสาหกรรมดนตรีขนาดไหน?

จากผลการศึกษาของ Axios รายได้ทั้งหมดจากบริการสตรีมมิงมิวสิกในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวจาก 1.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 มาเป็น 3.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ซึ่งตัวเลขในปี 2018 นี้รวมถึงรายได้จากสมาชิกที่สมัครแบบจ่ายเงินจำนวน 2.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตลาดของสตรีมมิงมิวสิกนั้นโตเร็วและยิ่งใหญ่ขนาดไหน

 

เมื่อผู้ใช้งานหันมาพึ่งช่องทางสตรีมมิงมิวสิกในการฟังเพลง อุตสาหกรรมสตรีมมิงมิวสิกก็ยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้น European Commission’s Joint Research Center และมหาวิทยาลัย University of Minnesota ได้ทำรีเสิร์ชถึงพฤติกรรมของผู้ฟังเพลงจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงมิวสิก โดยการรวบรวมข้อมูลจากเพลงฮิตรายวันจำนวน 200 เพลงจาก Spotify ตลอดปี 2016 และ 2017

 

พวกเขาพบว่า เพลย์ลิสต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Spotify สามารถทำให้เพลงหนึ่งเพลงกลายเป็นฮิตได้เลยทีเดียว เช่นถ้า Spotify ตั้งใจเพิ่มเพลงใดเพลงหนึ่งเข้าไปในเพลย์ลิสต์ Today’s Top Hits ซึ่งมียอดผู้ติดตามอยู่ที่ประมาณ 18.5 ล้านคน (จำนวนตามช่วงเวลาที่มีการรีเสิร์ช ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพลย์ลิสต์ดังกล่าวประมาณ 22 ล้าคน) ก็จะทำให้เพลงนั้นๆ ได้รับการสตรีมสูงถึงประมาณ 20 ล้านครั้งโดยเฉลี่ย ซึ่งถ้าแปลงยอดสตรีมเหล่านั้นให้กลายเป็นเงินที่ศิลปินจะได้รับแล้ว ก็อยู่ที่ประมาณ 116,000-163,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

 

 

อนาคตของสตรีมมิงมิวสิกจะเป็นอย่างไร?

ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่า ตลาดของบริการมิวสิกสตรีมมิงจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าสูงถึง 37,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

 

รามิ เซยดัน รองประธานบริษัทสตรีมมิงมิวสิกของอาหรับอย่าง Anghami เชื่อว่า ในอนาคต Spotify จะพัฒนาการนำเสนอสื่อด้านวิดีโอมากขึ้น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี การจดจำเสียง มาใช้ในสตรีมมิงมิวสิกด้วย ซึ่งอาจรวมถึงการนำเทคโนโลยีด้านอื่นๆ มาปรับใช้กับบริการมิวสิกสตรีมมิงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนอีกต่อไป

 

ข้อมูลการใช้งาน Voice Device อย่าง Google Home และ Amazon Echo ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักใช้เครื่องมือสั่งการด้วยเสียงเหล่านี้ในการหาเพลงฟังมากที่สุด โดยผู้ใช้งาน Amazon Echo จำนวนถึง 84% และผู้ใช้งาน Google Home จำนวน 70% มักจะสั่งการด้วยเสียงเพื่อฟังเพลง ซึ่งตรงกับ Spotify ที่ในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ได้ทดสอบระบบ Recognition System ของตัวเอง เพื่อหวังว่าผู้ใช้งานจะไม่ไปใช้ฟังก์ชันนี้ผ่านคู่แข่งอย่าง Apple, Amazon, และ Google ที่มีอุปกรณ์ Voice Device ของตัวเอง คงต้องดูกันต่อไปว่าในอนาคต บริการสตรีมมิงมิวสิกเหล่านี้จะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี Voice Recognition เพื่อใช้ต่อไปหรือไม่

 

อีกหนึ่งความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมดนตรีในอนาคตที่มีมิวสิกสตรีมมิงเป็นแกนนำ คือศิลปินมือใหม่จะเติบโตได้ง่ายขึ้น ด้วยความสะดวกสบายของโลกสตรีมมิง นอกจากผู้ใช้งานจะหาเพลงฟังเมื่อไร ที่ไหนก็ได้แล้ว ศิลปินเองก็สามารถพาเพลงของตัวเองไปสู่ผู้ฟังได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมการทำเพลงอย่าง Ampify’s Launchpad app หรือ Roland’s GO:KEYS ที่ถูกดีไซน์ให้ศิลปินหน้าใหม่หรือบุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้และทำเพลงของตัวเองได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงบริการสตรีมมิงมิวสิกหลากหลาย ที่ล้วนสนับสนุนให้ศิลปินหน้าใหม่มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถของตัวเอง

 

ที่สุดของที่สุด

ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลที่สุดของที่สุดประจำปี 2018 จากบริการสตรีมมิงมิวสิกสองเจ้าหลักอย่าง Apple Music และ Spotify ที่จะตอบคุณได้ว่าศิลปินคนไหนคือที่สุดของที่สุดประจำปีนี้

 

 

Apple Music

เพลงที่มีการสตรีมสูงสุดปี 2018 (ทั่วโลก)

  1. God’s Plan – Drake
  2. Nice For What – Drake
  3. Rockstar (feat. 21 Savage) – Post Malone
  4. In My Feelings – Drake
  5. Psycho (feat. Ty Dolla $ign) – Post Malone

 

เพลงที่มีการสตรีมสูงสุดปี 2018 (ไทย)

  1. ซ่อนกลิ่น – ปาล์มมี่
  2. ลาลาลอย (100%) – The TOYS
  3. อาวรณ์ – POLYCAT
  4. Lover Boy – ภูมิ วิภูริศ
  5. Smoke – วิโอเลต วอเทียร์

 

นอกจากนี้ Apple Music ยังมอบตำแหน่งศิลปินยอดเยี่ยมแห่งปีให้กับ เดรก Drake และศิลปินมาแรงแห่งปีให้กับ Juice WRLD ส่วนเพลงแห่งปีเป็นของ Cardi B กับเพลง I Like It ที่เธอฟีเจอร์ริงกับ Bad Bunny & J. Balvin และอัลบั้มแห่งปี ได้แก่ Golden Hour ของ Kacey Musgraves

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.apple.com/newsroom/2018/12/apple-presents-the-best-of-2018

 

 

Spotify

เพลงที่มีการสตรีมสูงสุดปี 2018 (ทั่วโลก)

  1. God’s Plan – Drake
  2. SAD! – XXXTENTACION
  3. Rockstar (feat. 21 Savage) – Post Malone
  4. Psycho (feat. Ty Dolla $ign) – Post Malone
  5. In My Feelings – Drake

 

เพลงที่มีการสตรีมสูงสุดปี 2018 (ไทย)

  1. ภาพจำ – ป๊อบ ปองกูล
  2. หมอกร้าย – Lipta
  3. Good Morning Teacher – อะตอม ชนกันต์
  4. นอนได้แล้ว – The TOYS feat. Fukking Hero
  5. บอกตัวเอง – Room39 feat. โป่ง หินเหล็กไฟ

 

เช่นเดียวกับ Apple Music ศิลปินที่มียอดสตรีมสูงที่สุดรอบโลกในปีนี้ก็คือ Drake ตามมาด้วย Post Malone, XXXTENTACION, J Balvin และ Ed Sheeran ที่เคยครองตำแหน่งอันดับหนึ่งไปเมื่อปีที่แล้ว ส่วนศิลปินที่คนไทยสตรีมมากที่สุดในปี 2018 ได้แก่ วงเคป๊อปจากประเทศเกาหลีอย่าง BTS ตามมาด้วย The TOYS, BLACKPINK, อะตอม ชนกันต์ และ Ed Sheeran

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: newsroom.spotify.com/2018-12-04/the-top-songs-artists-playlists-and-podcasts-of-2018

 

ภาพประกอบ: Patcha Poonpiriya และ Thiencharas W.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X