×

‘ธีรยุทธ’ เตือนกองทัพหยุดยัดเยียดภาวะสงครามในภาวะปกติ ส่วนพวกติงสถาบันไม่มีพลัง

15.10.2019
  • LOADING...
ธีรยุทธ บุญมี

วันนี้ (15 ตุลาคม) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดกิจกรรมรำลึกครบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2562 โดย ธีรยุทธ บุญมี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง ‘ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤตใหม่ประเทศไทย’ 

 

ธีรยุทธกล่าวว่าปีที่แล้วพูดถึงการก่อตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือสังคมและเหนือการเมือง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

 

ส่วนปีนี้จะเสนอสิ่งใหม่ คือมันมีการเปลี่ยนกระบวนความคิดใหม่ในสังคมไทยขึ้น ซึ่งก่อตัวไม่นาน แต่ส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในระบบคิดใหม่นี้ค่อนข้างเยอะ ในฐานะนักวิชาการก็มีหน้าที่ติงเตือนสังคมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

 

ธีรยุทธย้ำว่าในปัจจุบันไม่มีใครกลุ่มใดในสังคมเป็นศัตรู ไม่มองในฐานะที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใด

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

สังคมไทยไม่มีเป้าหมายจนกลับมาติดกับดักตัวเอง

สังคมไทยปัจจุบันไม่มีเป้าหมายจนกลับมาติดกับดักตัวเอง เป้าหมายการปฏิรูปประเทศเกิดมา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2535-2557 ดูเหมือนหดตัวไปเรื่อยๆ จนพูดได้ว่าการปฏิรูปตายแล้วหรือไม่ และผู้ที่ทำให้ตายคือการรัฐประหาร คสช.

 

นับจากปี 2500 กล่าวได้ว่าเมืองไทยมี 3 ยุค คือ

1. ยุคพัฒนา (2505-2535) สมัยของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชันของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน

 

2. ยุคปฏิรูป (2535-2557) สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกันคือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรฯ และ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงฝ่อลงไปเรื่อยๆ

 

3. ยุคปัจจุบัน (2557-2562) คือยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริงมีเป้าหมายหนึ่งคือ

 

‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้านจนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน 

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า สองพรรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็น ซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ

 

ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่กินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

กระบวนทัศน์ใหม่ครอบงำคนไทย อยู่ด้วยกันแบบมองกลุ่มอื่นเป็นศัตรู

ในวงการรัฐศาสตร์ มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นคือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า ‘การเมือง’ (The Politic) คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเมือง’ (The Political) คำว่าการเมืองซึ่งนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจ (Innimicus) หรือโกรธชังกัน (Exthrós) ระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้

 

แต่ทัศนะใหม่เรื่องความเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (Totality War) ของกลุ่มคน ซึ่งมองอีกกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู (The Enemy) เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม (Hostis, Polémios) ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ (Sovereignty) ของกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

 

“พวกการเมือง (The Politic) เชื่อในกระบวนการธรรมดา เลือกตั้งมาแล้วก็แสดงจุดยืนของตัว วิจารณ์จุดอื่นหรือคนอื่นเพื่อให้ความคิดของตนบรรลุผลและให้ความคิดคนอื่นล้มเหลว จนนำไปสู่การยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ นี่คือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คนทะเลาะกันได้ แต่กฎเกณฑ์ในสังคมจะช่วยให้บรรลุข้อตกลงได้

 

“แต่ความเมือง (The Political) ซึ่งปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับเข้ามา มองกลุ่มอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มองแบบนี้แม้ในภาวะปกติโดยไม่มีวิกฤตใดๆ 

 

“ทำให้เราได้เห็นว่าจากการเล่นการเมืองกลายเป็นเล่นความเมือง ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็นทหารฝ่ายความเมือง ใช้ทุกวิถีทางที่จะขยายความเกิดเหตุเกิดผล สร้างความ ต่อความ เติมความ รวมทั้งคดีความมาทำลายฝ่ายตรงข้าม ถึงที่สุดก็จะกลายเป็นสงคราม” ธีรยุทธกล่าว

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

ธีรยุทธกล่าวด้วยว่าการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ ‘การเมือง’ ตั้งแต่หลัง 14 ตุลากำลังเปลี่ยนเป็นกระบวนทัศน์ความเมือง เน้นต่อสู้ทำลายล้าง ซึ่งตนมองไปที่ความผิดพลาดในยุทธศาสตร์ของทหารเป็นหลัก

 

ฝ่ายประชาชนที่ขัดแย้งยังยอมรับสภาพ แดงยังเป็นแดง เหลืองยังเป็นเหลือง ที่ถูกกระบวนการต่างๆ เพิ่มพูนเป็นความขัดแย้งที่แรงขึ้น

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

รัฐบาลและทหารมองปัญหาใจกลางผิด จัดการปัญหาผิดพลาด

ธีรยุทธกล่าวต่อว่าทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่ที่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วนอาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ควรเป็นปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคงควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวลแบบแสดงความเข้าใจกันและกัน

 

เพราะประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชมหรือติติงสถาบันเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่มีพลังที่เป็นนัยสำคัญเลย และที่พวกเขาพูดถึงก็มักจะเป็นการพูดถึงสถาบันกับโลกยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป ส่วนการพูดถึง ซุบซิบนินทาผู้นำประเทศหรือดารา เป็นเรื่องสนองความอยากรู้ของมนุษย์ที่มีมาทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับสงครามไฮบริดสะท้อนว่าทหารเชี่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของ คสช. ยังอยู่ใน ‘ภาวะสงครามกลางเมือง’

 

แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงครามไฮบริด ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิม เพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่น วัสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติของประเทศหรือโลก มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริงๆ ขึ้นในที่สุด

 

ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบ ‘พวกเรา-ศัตรู’ เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 แต่การเกิด ‘ระบบความเมือง’ ในขณะนี้มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาล ฯลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง

 

“ผมสรุปยืนยันว่าคนในสังคมยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่แล้ว สถาบันกษัตริย์ซึมลึกอยู่กับสังคมไทยมาก สถาบันปกป้องตัวเองได้แบบที่นายกฯ พูด มีส่วนน้อยที่อาจจะไม่ชื่นชม แต่เป็นส่วนน้อยที่ไม่มีพลังนัยสำคัญ พลังที่ไม่มีนัยสำคัญไม่ควรถึงขั้นทหารหรือนายกฯ มาพูดให้คนตกใจ เพราะทหารเป็นผู้ถืออาวุธสงครามหนึ่งเดียวของประเทศ การพูดอะไรต้องระวัง

 

“ส่วนการพูดถึงหรือซุบซิบนินทาเป็นเรื่องปกติของสังคมที่ต้องยอมรับ เป็นกันทั่วโลกและเป็นกันทุกยุคสมัย ใครจะห้ามอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ ต้องยอมรับว่าเป็นความจริงของมนุษย์และต้องปล่อยผ่าน จะมาเอาเป็นเรื่องเป็นทางการไม่ได้ มันเป็นการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการ” ธีรยุทธกล่าว

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

หนทางแก้ไข หยุดยัดเยียดภาวะสงครามในยามปกติ

1. สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบมิตร รับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น

 

2. ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมใช้ ‘ความเมือง’ ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ ‘ความเมือง’ หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่ารัฐบาลมีความเชื่อว่า ‘กำลังมีสงครามภายใน’ หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาลและระบบยุติธรรมเองก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและใช้หลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง Devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (Devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐฯ และเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทัศน์ ‘ความเมือง’ ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้

 

“ถ้าเราเอาภาวะสงครามไปยัดเยียดให้ในภาวะปกติ อนาคตสงครามจริงๆ จะเกิดได้ เพราะเราไปยัดเยียดให้มันเกิดขึ้น โดยอาจจะทำด้วยความกลัวหรืออะไรต่างๆ” ธีรยุทธกล่าว

 

ธีรยุทธ บุญมี

 

งานที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ควรทำคือโฟกัสการแก้ปัญหาปากท้อง

รัฐบาลประยุทธ์ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่

 

ดังนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็จะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อยๆ ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสัก 2-3 เรื่องก็พอ

 

อย่างแรกคือโฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่ผมเคยเรียกว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน’ (กระจ้อน = แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจนและคนชั้นกลางก็ลำบากจริงๆ การแก้ปัญหานี้ความจริงทำได้ยาก แต่นายกฯ ก็ต้องทุ่มเททำ

 

อย่างที่สองคือการเพิ่มคุณภาพของคนทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ Disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีของตัวนายกฯ ประยุทธ์มาลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่น ต้องมีการประกันรายได้การงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง

 

ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising