×

พร้อมกันไหม? กับการถูก ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’

19.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ น่าจะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้น และอาจถึงขั้นร้องอี๋เมื่อนึกถึงกระบวนการรับสัมปทานอุจจาระของคนอื่นเข้ามาใส่ในลำไส้ของตัวเอง แต่การปลูกถ่ายอุจจาระเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาที่กำลังมาแรงและมีงานวิจัยในหลายด้านถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้
  • ปัจจุบันการปลูกถ่ายอุจจาระมีการใช้จริงแล้วในต่างประเทศ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ในลำไส้ หลักการรักษานั้นเปรียบเทียบง่ายๆ โดยสมมติว่า C. difficile เป็นผู้ก่อการร้ายที่มายึดครองลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้การทำงานผิดปกติ ถ่ายเหลว การปลูกถ่ายอุจจาระคือการนำกองทัพประชาชนที่แข็งแรงดีจำนวนมหาศาลเข้าไปยึดครองพื้นที่กลับมาจากผู้ก่อการร้าย จึงช่วยรักษาให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติได้ 
  • ส่วนโรคอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระนั้นมีหลากหลาย เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ออทิสซึ่ม พาร์กินสัน ซึมเศร้า รวมถึงโรคอ้วนลงพุงและเบาหวาน

ปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนี่งในทางเลือกการรักษาที่เราส่วนใหญ่คุ้นหู ด้วยคอนเซปต์ที่ตรงไปตรงมา เมื่ออวัยวะใดล้มเหลวจนเกินกว่าจะทำงานต่อไปได้ ก็ปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ที่ยังใช้งานได้จากผู้บริจาค หากเป็นอวัยวะที่มีสำรอง เช่น ไต มีสองข้าง ก็สามารถรับบริจาคจากญาติพี่น้องเพื่อแบ่งกันใช้คนละข้างได้ แต่หากเป็นอวัยวะที่มีเพียงหนึ่ง เช่น ตับ ก็ต้องรอการส่งต่ออวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว แต่อวัยวะบางอย่างยังใช้การได้ดีอยู่ สามารถส่งต่อไปให้ผู้อื่นใช้งานต่อได้



แต่ ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ น่าจะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้น และอาจถึงขั้นร้องอี๋เมื่อนึกถึงกระบวนการรับสัมปทานอุจจาระของคนอื่นเข้ามาใส่ในลำไส้ของตัวเอง แต่การปลูกถ่ายอุจจาระเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาที่กำลังมาแรงและมีงานวิจัยในหลายด้าน ถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้


ปัจจุบันการปลูกถ่ายอุจจาระมีการใช้จริงแล้วในต่างประเทศ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ในลำไส้ หลักการรักษานั้นเปรียบเทียบง่ายๆ โดยสมมติว่า C. difficile เป็นผู้ก่อการร้ายที่มายึดครองลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้การทำงานผิดปกติ ถ่ายเหลว การปลูกถ่ายอุจจาระคือการนำกองทัพประชาชนที่แข็งแรงดีจำนวนมหาศาลเข้าไปยึดครองพื้นที่กลับมาจากผู้ก่อการร้าย จึงช่วยรักษาให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติได้



ส่วนโรคอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระนั้นมีหลากหลาย เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ออทิสซึ่ม พาร์กินสัน ซึมเศร้า รวมถึงโรคอ้วนลงพุงและเบาหวาน โดยผู้บริจาคอุจจาระนั้นจะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี มีประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่หลากหลาย หนาแน่น และสมดุล ส่วนอุจจาระที่ได้รับบริจาคมานั้นจะถูกนำมาสกรีนโรคร้ายต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริจาค ก่อนถูกนำมาปลูกถ่าย โดยฉีดสวนกลับเข้าไปในลำไส้ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก



ล่าสุดมีงานวิจัยเชิง Proof of Concept Study ได้ทดลองให้เด็กที่เกิดโดยผ่าท้องคลอด 7 คนได้รับการป้อนอุจจาระจากแม่ของตัวเอง (แน่นอนว่ามีการตรวจอุจจาระของคุณแม่ก่อนว่าไม่มีเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตราย) และตรวจหาประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ในเวลา 3 เดือนต่อมา พบว่าประชากรแบคทีเรียในลำไส้มีลักษณะเหมือนเด็กที่คลอดผ่านทางช่องคลอด และแตกต่างกับเด็กที่คลอดโดยผ่าท้องคลอดทั่วไป จึงมีความเป็นไปได้ว่าการปลูกถ่ายอุจจาระจากแม่อาจเป็นวิธีที่ช่วยฟื้นคืนประชากรแบคทีเรียในลำไส้ให้กับเด็กที่เกิดโดยการผ่าท้องคลอดได้ แต่ยังคงต้องรองานวิจัยขนาดใหญ่เพื่อยืนยันแนวคิดนี้ต่อไป



เทรนด์ปลูกถ่ายอุจจาระตั้งต้นมาจากกระแสความรู้เรื่องประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจากเทคโนโลยีการตรวจ RNA gene sequencing และ DNA fingerprinting ที่ก้าวไกลขึ้น ส่งผลให้มนุษย์เรารู้จักเพื่อนตัวน้อยในลำไส้ใหญ่มากขึ้น เราพบว่าถ้านับกันตามจำนวนเซลล์แล้ว ร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์แบคทีเรียมากกว่าเซลล์มนุษย์ถึง 10 เท่า เฉพาะแค่ในลำไส้ พวกเราแต่ละคนก็มีเพื่อนตัวน้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 1014 ตัว!



ประชากรแบคทีเรียเหล่านี้ไม่ได้อยู่อาศัยเฉยๆ แต่อยู่แบบมีปฏิสัมพันธ์กับร่างกายของเราในลักษณะที่เรียกว่า Symbiosis คือมีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยเพื่อนสนิทของแบคทีเรียเหล่านี้คือเม็ดเลือดขาว ซึ่งเปรียบเสมือนทหารของกองทัพภูมิคุ้มกัน ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ดีและหลากหลาย จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ไม่อ่อนแอจนติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย ไม่รวนจนเป็นภูมิแพ้ ระบบย่อยอาหารก็ทำงานคล่อง ดูดซึมสารอาหารที่สำคัญได้ดี


อีกเพื่อนสนิทหนึ่งของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่คือ เซลล์ประสาทที่แฝงตัวอยู่ที่ผนังลำไส้มากมาย เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทซึ่งส่งผลกับอารมณ์และการทำงานของสมอง (อวัยวะที่มีเซลล์ประสาทมากเป็นอันดับหนึ่งคือสมอง อันดับสองคือลำไส้) ประเภทและปริมาณของประชากรแบคทีเรียเหล่านี้จึงส่งผลถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและอารมณ์



พวกเราแต่ละคนมีประชากรแบคทีเรียที่ต่างกันไปทั้งสายพันธุ์และความหนาแน่น โดยปัจจัยสำคัญที่กำหนด เริ่มตั้งแต่วิธีการที่เราถูกส่งตัวออกมาดูโลก เด็กที่เกิดโดยผ่าท้องคลอดจะมีประเภทของประชากรแบคทีเรียที่ต่างกับเด็กที่เกิดทางช่องคลอด เพราะการเดินทางผ่านช่องคลอดส่งผลให้เด็กได้รับสารคัดหลั่งทั้งจากช่องคลอดและทวารหนักของแม่ ผ่านเข้าทางปากตามธรรมชาติ ส่งผลให้เด็กที่เกิดผ่านช่องคลอด มีประชากรแบคทีเรียที่จัดว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าเด็กที่เกิดโดยผ่าท้อง



ในวันนี้ที่การปลูกถ่ายอุจจาระยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย และอาจเป็นแนวทางการรักษาที่บางคนฟังแล้วยังรู้สึกไม่พร้อม แต่สิ่งที่เราเริ่มต้นได้หากพร้อม คือการปรับเปลี่ยนประชากรแบคทีเรียในลำไส้ทีละน้อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการปรับอาหารและไลฟ์สไตล์ตามแนวทางในหนังสือ Microbiota อวัยวะที่ถูกลืม ซึ่งหมอได้เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยมีหลักเบื้องต้นดังนี้

 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูงสม่ำเสมอ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ที่ทานได้ทั้งเปลือก และผัก 
  • เน้นอาหารที่มีพรีไบโอติกซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม ถั่วต่างๆ ข้าวโอ๊ต กล้วย
  • พยายามรับประทานอาหารให้หลากหลาย อย่าทานแต่อาหารแบบเดิมซ้ำๆ ไม่กี่อย่าง
  • เลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป

 

ปลูกถ่ายอวัยวะและปลูกถ่ายอุจจาระ เป็นทางเลือกในการรักษาเมื่อการทำงานในร่างกายเสียสมดุลจนเกิดโรคขึ้นแล้ว ส่วนการดูแลสุขภาพให้ดีก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นมานั้น เป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตที่คุณเริ่มต้นได้ทันทีเมื่อใจพร้อมค่ะ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • Katri Korpela, Otto Helve, Kaija-Leena Kolho, Terhi Saisto, Kirsi Skogberg, Evgenia Dikareva, Vedran Stefanovic, Anne Salonen, Sture Andersson, Willem M. de Vos. Maternal Fecal Microbiota Transplantation in Cesarean-Born Infants Rapidly Restores Normal Gut Microbial Development: A Proof-of-Concept Study. Cell, 2020; DOI: 10.1016/j.cell.2020.08.047
  • Lee, Woo Jung, et al. “Fecal microbiota transplantation: a review of emerging indications beyond relapsing Clostridium difficile toxin colitis.” Gastroenterology & Hepatology 11.1 (2015): 24.
  • Galland, Leo. “The gut microbiome and the brain.” Journal of medicinal food 17.12 (2014): 1261-1272.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X