×

แห่เก็งกำไรหุ้น ‘ไทยคม’ เจรจา Starlink หวังปั้นดาวเทียม ‘LEO’

27.10.2020
  • LOADING...
เก็งกำไรหุ้น ไทยคม Starlink ดาวเทียม LEO

ราคาหุ้น บมจ.ไทยคม (THCOM) ล่าสุด (27 ตุลาคม) พุ่งขึ้นแตะ 5.95 บาท เพิ่มขึ้นราว 8% จากวันก่อนหน้า โดยราคาหุ้นปัจจุบันฟื้นตัวกลับขึ้นมาถึง 178% จากจุดต่ำสุดของปีที่ 2.14 บาท ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ปัจจัยบวกต่อหุ้น THCOM มาจากกระแสข่าวที่ว่าบริษัทได้พูดคุยกับ Starlink ภายใต้การบริหารของ อีลอน มัสก์ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจดาวเทียมมวงโคจรต่ำ

 

ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการสอบถามไปยัง ‘ไทยคม’ บริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใดว่าได้มีการพูดคุยกับทาง Starlink ส่วนทิศทางธุรกิจของบริษัทหลังจากนี้ จะค่อยๆ ลดน้ำหนักของดาวเทียมค้างฟ้า และหันมาเน้นการพัฒนาดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO)

 

ในยุคของ Internet of Things (IoT) เช่น ระบบโลจิสติกส์ ระบบโดรน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ทำให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตที่เสถียรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของการขยายดาวเทียม LEO ปัจจุบันบริษัทอย่าง Starlink หรือ Kuiper ภายใต้ Amazon ได้เริ่มโครงการเหล่านี้มาสักระยะหนึ่งแล้วในสหรัฐฯ หากประสบความสำเร็จ และต้องการขยายไปยังประเทศอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะเป็นลักษณะของการหาพันธมิตรในประเทศนั้นๆ

 

ในมุมของราคาหุ้น THCOM ที่ลดลงมาต่อเนื่อง ล่าสุดซื้อขายที่ระดับ P/BV 0.5 เท่า ทำให้หุ้นมีความน่าสนใจด้วยความเสี่ยงขาลงที่ค่อนข้างน้อย แม้ว่าธุรกิจจะยังมีความไม่แน่นอนจากการที่ดาวเทียมปัจจุบันจะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปอยู่ใต้ใบอนุญาต แต่แนวโน้มของบริษัทน่าจะทำกำไรได้เนื่องจากต้นทุนที่ลดลง

 

“ดาวเทียม LEO จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็วนัก แต่ด้วยราคาหุ้น THCOM ที่ต่ำมาก หากสามารถประคองตัวให้ผ่านช่วงเปลี่ยนถ่ายของเทคโนโลยีไปได้ โดยไม่เกิดความเสียหายมากนัก ภาพของ THCOM จะเปลี่ยนจากธุรกิจที่ตายเป็นธุรกิจที่โต”

 

ทั้งนี้ประเมินว่า THCOM จะมีกำไรปกติ 7 ล้านบาท ในปี 2563 ก่อนจะมีขาดทุนปกติ 28 ล้านบาท ในปี 2564 และพลิกเป็นกำไรปกติ 54 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนกำไรสุทธิคาดทำได้ 629 ล้านบาท 3 ล้านบาท และ 58 ล้านบาทตามลำดับ โดยอิงจากสมมติฐานคือ THCOM จะไม่ได้รายได้หลังจากหมดสัมปทาน ‘ไทยคม 4’

 

ขณะที่ ‘ไทยคม 6’ ยังมีส่วนแบ่งรายได้ 30% เทียบกับกรณีก่อนหมดอายุสัมปทาน ขณะที่ค่าเสื่อมของดาวเทียมทั้ง 2 ดวงจะหมดลงหลังหมดสัมปทาน รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลง 20-25% ต่อปี หรือราว 150-300 ล้านบาทต่อปี

 

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของ THCOM น่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ 59 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน กดดันจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง จากจำนวนลูกค้าที่ลดลงทั้งในดาวเทียมแบบดั้งเดิมและบรอดแบรนด์ จากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะต้นทุนค่าเสื่อมราคาและต้นทุนบุคลากร

 

ทั้งนี้ THCOM ได้บันทึกรายการการเสื่อมค่าของทรัพย์สินขนาดใหญ่ใน 4Q19 โดยรายการนี้ทำให้ค่าเสื่อมราคาลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงนั้น แต่เนื่องจากรายได้ที่ลดลงอย่างมาก THCOM จึงเริ่มมีผลขาดทุนอีกครั้ง

 

THCOM จากอดีตหุ้น 20 เด้ง ร่วงกลับสู่จุดเดิม

หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ราคาหุ้น THCOM ค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 2.04 บาท ก่อนจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2554-2557 จนไปแตะจุดสูงสุดที่ 43.75 บาท ใกล้เคียงกับช่วงที่หุ้นเพิ่งเข้าตลาดระยะแรกเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น

 

หากลองคำนวณดูแล้วจะเห็นว่าขาขึ้นในรอบที่ผ่านมา ทำให้ THCOM กลายเป็นหุ้น 20 เด้ง ภายในเวลาไม่ถึง 6 ปี แต่ภาพหลังจากนั้นคงยากที่ใครจะคาดเดาได้ว่า ราคาหุ้น THCOM จะร่วงอย่างต่อเนื่องจนกลับมาสู่จุดเดิมกับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

 

ปัจจัยลบของหุ้น THCOM มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยหนึ่งในลูกค้าหลักขณะนั้นคือ CTH ได้ประกาศว่าจะยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมของไทยคม หลังจากนั้นรัฐบาลต้องการให้นำดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เข้าสู่ระบบสัมปทานเดิม ทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าสัมปทานสูงขึ้นจาก 5.75% เป็น 22.5% รวมถึงความกังวลในเรื่องของดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายน ปี 2564

 

จากที่ THCOM เคยมีกำไรสุทธิ 2.12 พันล้านบาท ในปี 2558 ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเหลือ 1.61 พันล้านบาท ก่อนจะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิกว่าปีละ 2 พันล้านบาท ในปี 2560 และปี 2562 ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 695 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising