บริษัทด้านเทคโนโลยีในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตามหาสุนัขสุดรักของคุณที่หายไป โดยใช้ AI ที่สามารถระบุถึงตัวตนโดยใช้เพียงภาพจมูกของพวกมัน
เช่นเดียวกับลายนิ้วมือของมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าลายพิมพ์จมูกของสุนัขนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังคงเหมือนเดิมแม้โตขึ้น S’more ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในโตเกียว และบริษัทอื่นๆ ได้ใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยให้เจ้าของได้สัตว์เลี้ยงแสนรักกลับสู่อ้อมกอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สุนัขหรือแมว’ สัตว์ชนิดใดมีประสิทธิภาพในโฆษณามากกว่ากัน?
- New Normal การเลี้ยงสุนัข! Boston Dynamics เปิดจำหน่ายหุ่นยนต์สุนัขเชิงพาณิชย์ 2.3 ล้านบาท
การพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงขยายตัวในหลายส่วนของโลก โดยเจ้าของในญี่ปุ่นและที่อื่นๆ ซึ่งทุ่มเงินมหาศาลให้เพื่อนขนฟู โดยเฉพาะเมื่อครัวเรือนมีขนาดเล็กลง
“หากแอปของเรามีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แนวคิดเรื่องสุนัขที่หลงทางจะหายไป” ซัตสึกิ ซาวาชิมะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ S’more กล่าว “เราต้องการสร้างข้อมูลขนาดใหญ่ของเราเกี่ยวกับสุนัข ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง”
ผู้ใช้แอปของ S’more อัปโหลดรูปจมูกสุนัข 2-3 รูป หากสัตว์เลี้ยงหาย ใครก็ตามที่เจอสัตว์ที่หายไปสามารถส่งรูปถ่ายได้ แอปจะบันทึกการจับคู่เพื่อปูทางไปสู่การค้นหาสุนัขที่หายไป
เทคโนโลยี AI เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ โดยใช้ ‘การเรียนรู้เชิงลึก’ เพื่อศึกษาภาพสุนัข 2,000 ตัว และได้ความถูกต้องในการระบุตัวตนประมาณ 90% จากแอปเวอร์ชันเบตาที่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม S’more ยังวางแผนที่จะขยายแอปเพื่อรวมฟังก์ชันต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้จัดการบันทึกการฉีดวัคซีนของสัตว์เลี้ยงและข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ
นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลีใต้ Petnow และบริษัทอาหารของสหรัฐฯ Mars ยังได้พัฒนาแอปจดจำการพิมพ์จมูกสำหรับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
และในประเทศจีน บริการชำระเงินของ Alipay ของ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba Group ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ได้เปิดตัวบริการประกันสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบตัวตนของสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยใช้ระบบจดจำจมูก
ในขณะเดียวกันบริษัทประกันสัตว์เลี้ยงของญี่ปุ่น Anicom Holdings ได้พัฒนาระบบที่ใช้ AI ซึ่งใช้ภาพถ่ายใบหน้าเพื่อช่วยคาดการณ์ว่าสุนัขมีความเสี่ยงจากโรคบางชนิดโดยเฉพาะหรือไม่ โดยบริษัทเคลมว่าแอปมีความแม่นยำในการทำนายประมาณ 70% สำหรับโรคตา และประมาณ 60% สำหรับโรคหูและผิวหนัง
ทำนองเดียวกัน บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลีใต้ AI FOR PET ได้พัฒนาแอปที่ใช้ AI เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าสัตว์เลี้ยงมีโรคหรือไม่ โดยอาศัยภาพดวงตาและส่วนอื่นๆ ของร่างกายของพวกมัน ซึ่งเจ้าของสามารถส่งรูปถ่ายจากสมาร์ทโฟน และได้รับแจ้งว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขามีอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคหรือไม่
แอปที่พัฒนาโดย AI FOR PET ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเกาหลีใต้ว่าเป็นซอฟต์แวร์อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสัตว์ AI ที่ใช้ในแอปนี้ อิงจากบทความที่เขียนโดยมหาวิทยาลัยคอนกุกของเกาหลีใต้ และบทความอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ British Scientific Reports ในปี 2019
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปสุนัขและแมวที่ขายในญี่ปุ่นต้องฝังไมโครชิป และด้วย AI ที่ค่อยๆ แทรกซึมทุกแง่มุมในชีวิตของผู้คน จึงอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มองหาวิธีที่จะขยายเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์
อ้างอิง: