สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยว่า บรรดาบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างพร้อมใจประกาศเลิกจ้างพนักงานบริษัทจำนวนมากในปีนี้ เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคทำให้กิจการของบริษัทอยู่ในภาวะขาดทุนมากขึ้น
รายงานระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Carousell มาร์เก็ตเพลสออนไลน์ ประกาศจะปลดพนักงานประมาณ 10% ของจำนวนพนักงานบริษัททั้งหมด หรือประมาณ 110 ตำแหน่ง ขณะที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน GoTo Group สตาร์ทอัพที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง 2 สตาร์ทอัพใหญ่ของอินโดนีเซีย ก็ประกาศปลดพนักงาน 12% หรือราว 1,300 ตำแหน่ง โดยเหตุผลสำคัญของการปลดพนักงานสืบเนื่องจากความท้าทายของเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ Sea Group และบริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่คือสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างออกมาประกาศปรับโครงสร้างปลดพนักงานจำนวนมาก โดยมีรายงานว่า เฉพาะ Sea Group มีการปลดคนงานแล้วมากกว่า 7,000 คนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
Jia Jih Chai ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Rainforest ผู้รวบรวมแบรนด์อีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ กล่าวว่า บรรดาเจ้าของบริษัทกำลังระมัดระวังในการจัดสรรทุนท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทมีรันเวย์เพียงพอจนถึงปลายปี 2024
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้บรรดาสตาร์ทอัพต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับความต้องการบริโภคสินค้าและบริการของผู้บริโภคในตลาดที่มีแนวโน้มจะลดลงตลอดปี 2023
Quek Siu Rui ซีอีโอของ Carousell ยอมรับว่า การปลดพนักงานที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของตนเองที่มองโลกในแง่ดีเกินไป ว่าเศรษฐกิจหลังโควิดจะฟื้นตัวได้อย่างดี ทำให้เร่งใช้จ่ายเพื่อจ้างงานให้ทันต่อการเติบโตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสวนทางความเป็นจริงที่พบว่า เศรษฐกิจไม่ได้โตได้ดีแบบที่คาดไว้ ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ และสตาร์ทอัพทั้งหลายจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง ลดกำลังพล เพื่อทำให้บริษัทอยู่รอด
ทั้งนี้ บรรดาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถทำกำไรได้ โดยสตาร์ทอัพชั้นนำอย่าง Sea Group และ Grab ขาดทุนสะสมหลายพันล้านต่อปีแล้ว ขณะที่บรรดานายทุนต่างเร่งแนะนำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง และผลักดันให้ผู้ก่อตั้งจัดสรรทุนเพื่อขยายรันเวย์ของตนเองให้ยาวขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: