สำหรับคอกาแฟแล้วนี่อาจเป็นข่าวร้ายที่ต้องเผชิญในอนาคต เมื่อราคากาแฟกำลังปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนและสภาพอากาศที่เลวร้ายในบราซิลเมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลให้ราคาในตลาดซื้อขายกาแฟอาราบิก้าพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014
แต่สำหรับ Starbucks แม้ต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้น ทว่ายักษ์รายนี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาได้ โดย “ความผันผวนในตลาดกาแฟไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการตั้งราคาขายปลีก และกลยุทธ์การกำหนดราคาของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง” โฆษกของ Starbucks กล่าวกับ CNN Business
เควิน จอห์นสัน แม่ทัพของ Starbucks ได้กล่าวย้ำเรื่องนี้ในระหว่างการให้ข้อมูลกับนักลงทุนว่า Starbucks จะสามารถหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาสำหรับลูกค้าได้เนื่องจากกลยุทธ์การจัดซื้อ โดยยักษ์ร้านกาแฟได้ใช้กลวิธีหลายอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถซื้อเมล็ดกาแฟได้ใน ‘ราคาที่น่าดึงดูด’ ซึ่งรวมถึงการซื้อกาแฟล่วงหน้าและการล็อกราคา
สำหรับคู่แข่งแล้วสถานการณ์ดังกล่าวอาจกลายเป็นฝันร้ายที่ต้องเผชิญ แต่สำหรับ Starbucks ความผันผวนในระยะสั้นอาจทำให้ได้เปรียบ
ต้นสายปลายเหตุของความท้าทายดังกล่าวมาจากการเกิดน้ำค้างแข็งรุนแรงในบราซิลที่ได้ทำลายต้นกาแฟจำนวนมาก ซึ่งปกติแล้วเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่ต้นกาแฟกำลังเบ่งบานและอ่อนแอ ผู้ปลูกกาแฟรายหนึ่งบอกกับ Bloomberg ว่า อากาศที่หนาวเย็นทำให้ต้นกาแฟเสียหายมากถึง 120,000 ต้นจาก 200,000 ต้นที่ปลูกเมื่อไม่ถึงหนึ่งปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 20-30% ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญที่ลำต้น
“นี่เป็นน้ำค้างแข็งรุนแรงที่สุดในรอบ 27 ปี” คาร์ลอส เมรา ผู้เชี่ยวชาญด้านราคากาแฟกล่าวกับ CNN Business ขณะที่รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ผลจากสภาพอากาศที่เลวร้ายอาจทำให้ผลผลิตในปีหน้าลดลงมากถึง 4.5 ล้านกระสอบ ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมาบราซิลสามารถเก็บเกี่ยวกาแฟอาราบิก้าได้มากถึง 49 ล้านกระสอบ
นอกจากสภาพอากาศแล้ว การประท้วงในโคลอมเบีย การเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และอื่นๆ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาของกาแฟเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง “หากราคาเหล่านี้ยังคงสูงขึ้น (บริษัท) ก็อาจจะต้องส่งต่อ (ต้นทุน) ไปยังผู้บริโภค” ผู้เชี่ยวชาญด้านราคากาแฟกล่าว
ขณะเดียวกันเขากล่าวย้ำว่าผลกระทบนี้อาจจะไม่ส่งผลต่อบริษัทขนาดใหญ่ และอาจสามารถชะลอการขึ้นราคาได้ นอกจากนี้เครื่องดื่มบางชนิด เช่น คาปูชิโน ซึ่งใช้กาแฟเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเมนูอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากราคากาแฟที่สูงขึ้น
รายงานจาก MarketWatch ระบุว่า ราคาขายปลีกของกาแฟในเดือนมิถุนายน 2021 เพิ่มขึ้น 8.4% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันราคาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.9% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับกาแฟในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2% จากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และ 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ Starbucks เพิ่งออกมารายงานยอดขายประจำไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้น 78% ด้วยตัวเลข 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดขายสาขาเดิมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 73% ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางจากปีก่อนที่ยอดขายลดลง 40% ในช่วงไตรมาสดังกล่าว เนื่องจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกทำให้เกิดการล็อกดาวน์ในบางภูมิภาค
ในสหรัฐอเมริกาตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Starbucks ยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 83% ในระยะเวลา 2 ปี ส่วนไตรมาสนี้ยอดขายสาขาเดิมของตลาดเพิ่มขึ้น 10% โดย 3 ใน 4 ของยอดขายมาจากกลุ่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มเย็น เช่น ไนโตร โคลด์ บรูว์ (Nitro Cold Brew)
ส่วนตลาดนอกบ้านเกิดยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 41% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น 55% ด้านจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รายงานยอดขายสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 19% แต่กระนั้น Starbucks ก็ได้เตือนถึงการเติบโตที่ชะลอตัวลงอีก โดยได้ปรับการเติบโตจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 27-32% เหลือเพียง 18-20%
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/07/28/business/starbucks-coffee-prices/index.html
- https://www.cnbc.com/2021/07/27/starbucks-sbux-q3-2021-earnings.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-22/brazil-s-frost-may-kill-young-coffee-trees-hurt-crops-for-years
- https://www.marketwatch.com/story/coffee-futures-soar-10-score-biggest-1-day-gain-in-over-7-years-11626975809