×

นักดาราศาสตร์ถ่ายภาพดาวฤกษ์นอกทางช้างเผือก เห็นรายละเอียดได้เป็นครั้งแรก

23.11.2024
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพดาวฤกษ์นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก พร้อมเผยให้เห็นรายละเอียดอย่างใกล้ชิดได้เป็นครั้งแรก และพบว่าดาวดวงนี้กำลังจะถึงจุดจบของชีวิตในไม่ช้า

 

แม้ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์อาจเคยถ่ายภาพดาวฤกษ์ในกาแล็กซีอื่นมาได้บ่อยครั้ง แต่ไม่มีรูปไหนที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของดาวฤกษ์ได้เหมือนรูปล่าสุดจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ของ ESO ที่บันทึกภาพของดาว WOH G64 หนึ่งในดาวฤกษ์ของเมฆแมกเจลแลนใหญ่ กาแล็กซีบริวารของทางช้างเผือกที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 160,000 ปีแสง

 

ดาวฤกษ์ WOH G64 มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 2,000 เท่า หรือเรียกเป็นดาวยักษ์แดง ซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มก๊าซทรงคล้ายรูปไข่ จากการปลดปล่อยมวลสารของดาวฤกษ์ออกมาในปริมาณสูง อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดอายุขัยของดาวฤกษ์ ด้วยการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาในอนาคต

 

นอกจากนี้ Gerd Weigelt นักดาราศาสตร์จาก Max Planck Institute for Radio Astronomy หนึ่งในคณะวิจัยที่ศึกษาและติดตามดาวฤกษ์ WOH G64 มาตั้งแต่ปี 2005 เปิดเผยว่า “ดาวฤกษ์ดวงนี้มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นโอกาสอันดีในการได้เห็นการแก่ตัวของดาวฤกษ์ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง”

 

การถ่ายภาพความละเอียดสูงของดาวฤกษ์ เป็นหนึ่งในงานที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับนักดาราศาสตร์ โดยเฉพาะดาวฤกษ์ที่อยู่ในกาแล็กซีอื่น ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่า 160,000 ปีแสง ทำให้ต้องใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ 4 ตัวของ ESO หรือเรียกว่า Very Large Telescope Interferometer เพื่อบันทึกภาพดาวฤกษ์ในกาแล็กซีอื่น พร้อมรายละเอียดแบบคมชัดที่สุดได้เป็นครั้งแรก

 

นักดาราศาสตร์ยังสนใจถึงรูปทรงของกลุ่มก๊าซที่ห้อมล้อมรอบดาว WOH G64 ซึ่งแตกต่างไปจากข้อมูลที่ทำนายไว้ และอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของดาวฤกษ์อีกดวงที่ยังไม่ถูกค้นพบได้

 

ในเวลาเดียวกัน นักดาราศาสตร์ยังต้องการศึกษาดาวฤกษ์ดวงนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจถึงช่วงเวลาสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดมหึมาเช่นนี้ ก่อนจะสิ้นอายุขัยกลายเป็นซูเปอร์โนวาในที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อ WOH G64 มีความสว่างน้อยลง การถ่ายภาพความละเอียดสูงเช่นนี้ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้นเช่นกัน

 

ภาพ: ESO / K. Ohnaka et al. 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X