วันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ตุลาคม) Twitter สร้างปรากฏการณ์ในการเมืองไทยอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ในฐานะแพลตฟอร์ม แต่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากบริษัท Twitter เองที่ปล่อยรายงานการตรวจสอบเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO) พบความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายชาติ ประกอบไปด้วย อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, คิวบา และไทย และแบนแอ็กเคานต์เหล่านี้หมดแล้ว
Twitter เปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมของแอ็กเคานต์ที่เป็น IO แบบนี้มาตั้งแต่ปี 2018 และมีการปิดบัญชี IO จากประเทศต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยโดน โดย Twitter เปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมด (แบบไม่ผ่านฟังก์ชันแฮชหรือการเข้ารหัส) แต่ต้องระบุองค์กรและเหตุผลที่จะนำข้อมูลไปใช้งานก่อน
นอกจากนี้ Twitter ยังส่งข้อมูลชุดนี้ไปให้ศูนย์นโยบายไซเบอร์ของมหาวิทยาลัย Stanford ตั้งแต่ 24 กันยายน และทีมวิจัยในโปรแกรม Stanford Internet Observatory ก็เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ออกมาไล่ๆ กันกับการประกาศของ Twitter
รายงานของ Stanford ใช้ชื่อว่า ‘Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai Army’ ที่ชี้ว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกครั้งนี้มีขึ้นเพื่ออวยกันเอง (Cheerleading Without Fans) เป็นปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบน้อย (Low-Impact) จากการใช้วิธีที่ตื้นเขินไม่ซับซ้อน (Unsophisticated)
สถิติเชิงตัวเลข
Stanford พบว่า จากแอ็กเคานต์ที่ Twitter ลบไปกว่า 926 แอ็กเคานต์ ส่วนใหญ่ถูกสร้างในเวลาไล่เลี่ยกันช่วงเดือนธันวาคม 2019 ถึงมกราคม 2020 แต่เกินครึ่งคือ 471 แอ็กเคานต์ไม่เคยทวีตเลย ส่วนที่เหลือจะเริ่มทวีตหนักๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยเฉพาะปลายกุมภาพันธ์และต้นมีนาคมที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองหลายเหตุการณ์พร้อมกัน
นอกจากนี้ บัญชีเหล่านี้แม้จะทวีตค่อนข้างเยอะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เป็นแอ็กเคานต์ที่แทบไม่มีใครสนใจ โดย 684 แอ็กเคานต์ไม่มีผู้ติดตาม ขณะที่ Engagement (การตอบกลับ รีทวีต หรือกดไลก์) โดยเฉลี่ยจากกว่า 21,000 ทวีตก็ค่อนข้างต่ำที่ 0.26 Engagement ต่อทวีตเท่านั้น ตัวเลข Engagement สูงสุดที่เคยได้ก็แค่ 427 เท่านั้น
ที่สำคัญคือแอ็กเคานต์เหล่านี้ทำตัวเหมือนบอต ชื่อแอ็กเคานต์ก็มักจะใช้ที่ Twitter สุ่มมาให้ตอนสมัคร เช่น @fl1YVJqV1aFoWFb, ไม่มีการเขียนข้อมูลใดๆ ใน Bio และใช้รูปโปรไฟล์ของคนอื่น
พฤติกรรมและเนื้อหาของปฏิบัติการ
Stanford พบว่าพฤติกรรมของแอ็กเคานต์เหล่านี้มีอยู่ไม่กี่อย่าง ได้แก่
- การสนับสนุนกองทัพและทหาร อย่างการยกย่องการช่วยเหลือประชาชนของทหารในภาพรวม โดยส่วนใหญ่เป็นการตอบกลับบัญชี PR ของกองทัพ เช่น @army2pr, @armypr_news หรือแอ็กเคานต์ @WassanaNanuam ของ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร
- ชื่นชมกองทัพและรัฐบาลเรื่องโควิด-19 นอกจากบัญชีของกองทัพแล้ว ก็มีการตอบกลับหรือชื่นชมรัฐบาลผ่านบัญชีของนายกรัฐมนตรี @prayutofficial
- เบี่ยงเบนประเด็นและลดการวิจารณ์กองทัพจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช เหตุการณ์กราดยิงโคราชที่เกิดจากทหารและปัญหาภายในกองทัพ หน้าที่ของ IO เหล่านี้คือพยายามบอกว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความผิดของกองทัพ เป็นเรื่องของบุคคล และการรายงานข่าวที่โจมตีกองทัพเป็นข่าวปลอม พร้อมกันนั้นก็พยายามเชิดชูยกย่องกองทัพและเจ้าหน้าที่ในแง่ว่าสามารถรับมือเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
- โจมตีพรรคอนาคตใหม่/พรรคก้าวไกล Stanford บอกว่าแทบจะเป็นธีมหลักของปฏิบัติการนี้ กับการทวีตข้อมูลทับถม (Dogpile) ซ้ำเติม หรือสนับสนุนการยุบพรรคอนาคตใหม่
ยุทธวิธี
เป็นส่วนที่ Stanford วิจารณ์ว่าไม่ซับซ้อน เรียบง่าย (Uncomplicated และ Unsophisticated) เพราะใช้วิธีอยู่ 3 อย่าง
- ตอบกลับทวีตในเชิงสนับสนุนไปยังแอ็กเคานต์ของกองทัพพร้อมกันซ้ำๆ ทีละเยอะๆ (En Masse)
- ทับถมบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่/พรรคก้าวไกล
- ใส่แฮชแท็กที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ตัวเองจะสื่อ
ปฏิบัติการที่ไร้ผล
Stanford วิเคราะห์ว่า ปฏิการข้อมูลข่าวสารของกองทัพไทยจากชุดข้อมูลที่ Twitter ให้มาชุดนี้ เป็นปฏิบัติการที่ไร้ผลหรือส่งผลน้อย เพราะตัวแอ็กเคานต์ที่นำมาใช้ในปฏิบัติการไม่มีผู้ติดตาม ไม่มี Engagement ขณะที่จำนวนและความสำคัญของทวีตจากแอ็กเคานต์เหล่านี้ก็ไม่ได้มากพอจะสามารถสร้างประเด็นหรือเบี่ยงเบนประเด็นของสาธารณะได้จริงตามที่กองทัพต้องการ
แต่ Stanford ก็ระบุว่า การวิเคราะห์ชุดข้อมูลนี้มีความยากจากการไม่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ไม่สามารถดูได้ว่าในสถานการณ์จริงแอ็กเคานต์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานจริงได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้หลังจาก Twitter ได้เปิดเผยข้อมูลการปิดบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าว พล.ท. สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพบกใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก โดยเฉพาะงานที่สำคัญที่สุดคือการช่วยประเทศไทยในภูมิภาคต่างๆ ที่มีสถานการณ์วิกฤต เช่น ภัยพิบัติ โดยใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามและสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ลงพื้นที่เร็วที่สุด และยืนยันว่าไม่มีการใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ขณะที่ พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า ต้องตรวจสอบข้อมูลจากทาง Twitter ก่อน ซึ่งจากที่เห็นตามข่าว เป็นไปได้ว่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้งานซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ และการวิเคราะห์สรุปว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองทัพบกนั้น น่าจะเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับกองทัพบก เพราะการประมวลผลภาพรวมขาดการวิเคราะห์เชิงลึก ด้วยบัญชีผู้ใช้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และไม่ได้มาจากบัญชีที่เป็นทางการของกองทัพบก ประกอบกับข้อมูลที่เน้นเรื่องจำนวน ความถี่ การแฮชแท็กต่างๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำในลักษณะดังกล่าวได้โดยอิสระ โดยยืนยันว่าเรื่องปฏิบัติการ IO เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ใช่ภารกิจหรือวัตถุประสงค์ในการใช้ Twitter ของกองทัพ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: