วันนี้ (27 ตุลาคม) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบและวินิจฉัย กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ได้เรียกรัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งล้วนเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐด้วย รวม 6 คน เข้าพบหารือเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่นั้น
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงการหารือเรื่องการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เท่านั้น แต่ได้ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลภายนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่เหตุการณ์หลังจากวันดังกล่าวเป็นต้นมา เกิดการเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐจนกระทั่งมีการลาออกของกรรมการบริหารของพรรคถึง 9 คน และจะมีการประชุมพรรคกันเพื่อปรับโครงสร้างพรรคกันในเร็วๆ นี้ อันเป็นการตอกย้ำว่ามีผลมาจากการเรียกหารือของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมหรือไม่
ในคำร้องระบุว่า การกระทำของ พล.อ. ประยุทธ์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคการเมืองกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” และพรรคพลังประชารัฐอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 29 ที่ว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมือง ในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”
การกระทำดังกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่นั้น จำต้องร้องให้ กกต. วินิจฉัย เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานของพรรคการเมืองต่อไป ซึ่งหาก กกต. วินิจฉัยว่าฝ่าฝืนจริง พรรคการเมืองนั้นๆ ก็อาจมีความผิดตาม ม.92(3) ของกฎหมายดังกล่าว และ กกต. มีหน้าที่ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้นได้
ภาพ: ภาพพูล