สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในประเทศศรีลังกา ว่าในท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปในรูปแบบและทิศทางเดียวกันกับกรณี ‘อาหรับสปริง’ ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ‘อาหรับสปริง’ เป็นคำศัพท์ที่นิยามถึงกรณีการประท้วงของหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มต้นจากการที่พ่อค้าแผงลอยเผาตัวตายในตูนิเซียในปี 2010 เพราะอัดอั้นกับการปกครองแบบเผด็จการ จุดชนวนให้เกิดการประท้วงโค่นล้มรัฐบาล ทั้งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนในอีกหลายประเทศในอาหรับ เช่น อียิปต์ ลิเบีย และซีเรีย ลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ
Asanga Abeyagoonasekera นักวิชาการอาวุโสของ Millennium Project ในกรุงวอชิงตัน กล่าวต่อสถานีโทรทัศน์ CNN ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออาหรับสปริงในแบบศรีลังกา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อยุติการปกครองแบบเผด็จการ ที่นำไปสู่ความผิดพลาดในการจัดการทางเศรษฐกิจ การเล่นเส้นสาย แบ่งพรรคแบ่งพวก และการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าหากเป็นไปตามรูปแบบของอาหรับสปริง ในท้ายที่สุดศรีลังกาก็ต้องถึงเวลาปฏิรูปแนวทางการปกครองประเทศ
แม้จะเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ลงจากตำแหน่ง บวกกับแรงกดดันจากบรรดารัฐมนตรีที่พร้อมใจกันลาออก แต่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2019 ยังคงยืนกรานไม่ลาออก
อ้างอิง: