วันนี้ (17 กรกฎาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐสภาศรีลังกาเตรียมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ โดยผู้สมัครบางส่วนที่ประสงค์จะชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศเริ่มทยอยแสดงตัวและประกาศจุดยืนแล้ว ซึ่งจะสมัครรับเลือกตั้งได้ถึงภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ก่อนการเลือกตั้งจะเปิดฉากขึ้น 1 วัน
โดย รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ที่แต่งตั้งตนเองขึ้นรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ก็เตรียมชิงเก้าอี้ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย หลังจากที่ โกตาบายา ราชปักษา และภริยา เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังมัลดีฟส์ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ และส่งจดหมายลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในท้ายที่สุด ยุติบทบาทการครองอำนาจนำของตระกูลราชปักษาในเกมการเมืองศรีลังกาที่ดำเนินมานานร่วม 2 ทศวรรษลงได้สำเร็จ
ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมาก หลังขับไล่โกตาบายาให้ก้าวลงจากอำนาจได้สำเร็จแล้ว #GotaGoHome ก็มุ่งเป้ามายังรานิล #RanilGoHome เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างแท้จริง หลังจากที่หลายฝ่ายมองว่า นายกฯ ศรีลังกา ที่เคยขึ้นดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 5 วาระ และไม่เคยอยู่จนครบวาระเลยสักครั้งอย่างรานิล กำลังหมายตาเก้าอี้ประธานาธิบดีที่เขาไม่เคยได้สัมผัสเลยสักครั้งในเส้นทางชีวิตในวงการการเมืองศรีลังกาที่ผ่านมา พร้อมประกาศจะปฏิบัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และจะอยู่ในอำนาจจนกว่ารัฐสภาจะโหวตเลือกประธานาธิบดีคนใหม่แล้วเสร็จ
ชาวศรีลังกาจำนวนไม่น้อยจะเดินหน้าชุมนุมประท้วงต่อไปหากรานิลชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันพุธที่จะถึงนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองศรีลังกาแนะ ให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งผู้นำที่จะขึ้นมาบริหารประเทศต่อจากนี้จะต้องเร่งแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คน ซึ่งไม่สามารถคลี่คลายลงได้ภายในชั่วข้ามคืน ผู้นำคนใหม่จะได้รับแรงกดดันอย่างมากในการเร่งเจรจากับ IMF เพื่อหาทางไปต่อให้กับศรีลังกา
ศรีลังกากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขบวนการเคลื่อนไหว Aragalaya ของประชาชนชาวศรีลังกา ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติ มีจุดแข็งคือ เกิดขึ้นโดยแรงขับจากคนที่เป็นฐานรากของสังคม ขับเคลื่อนโดยประชาชนอย่างแท้จริง รวมกลุ่มคน 3 กลุ่มหลักในศรีลังกา อย่างชาวสิงหล ชาวทมิฬ และชาวมุสลิม เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามเสียงและความต้องการของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ทำให้การควบคุมกลุ่มคนจึงเป็นไปได้ยาก และอาจบานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ง่าย จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่น่าเฝ้าจับตามอง
นอกจากรานิล จากพรรค UNP แล้ว ซาจิต ปรีมาดาซา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนปัจจุบัน จากพรรค SJB รวมถึง อนุรา กุมารา ดิสสนายกะ ผู้นำกลุ่มแนวร่วมจาก NPP ก็จะร่วมสู้ศึกชิงเก้าอี้ผู้นำศรีลังกาคนใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ด้วย ขณะที่พรรค SLPP ภายใต้การนำของตระกูลราชปักษา ก็ส่ง ดัลลัส อะลาฮัปเปรูมา อดีตรัฐมนตรีด้านการสื่อสาร ร่วมชิงตำแหน่งผู้นำประเทศกลับคืนมา
ภาพ: Lakruwan Wanniarachchi / AFP
อ้างอิง: